Custom Search
 


วัดอัษฎางคนิมิตร-สะพานอัษฎางค์-จุดชมทิวทัศน์เขาน้อย-
ประภาคารแหลมวัง-เกาะสีชัง จ.ชลบุรี



หมายเหตุ : เนื้อหาและรูปภาพในหัวข้อ"เกาะสีชัง"นี้มีด้วยกันทั้งหมด 4 หน้า ท่านสามารถ click link ชื่อสถานที่ท่องเที่ยวทางด้านล่างของหน้า เพื่อชมข้อมูลและรูปภาพในหน้าต่าง ๆ ได้ตามความต้องการ

          นอกเหนือไปจากพระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์แล้วภายในเขตพื้นที่ของพระจุฑาธุชราชฐานยังคงมีสถานที่สำคัญอีกหลายแห่งซึ่งควรค่าแก่การแวะเยี่ยมชม ได้แก่

     - อาไศรยสถาน เรือนพักฟื้นผู้ป่วย : เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ปี พ.ศ. 2431 พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทรัพย์ส่วนพระคลังข้างที่ เพื่อจัดสร้างเรือนพักฟื้นสำหรับผู้ป่วยซึ่งเรียกว่า “อาไศรยสถาน” ขึ้นจำนวน 3 หลัง พร้อมทั้งพระราชทานนามของเรือนแต่ละหลังตามพระนามของ สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี , พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี และ พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ ว่า “เรือนวัฒนา (เรือนใกล้ๆ ริมชายหาด)” , “เรือนผ่องศรี (เรือน 8 เหลี่ยม)” และ “เรือนอภิรมย์ (เรือนแถวยาว)” เรือนทั้ง 3 หลังนี้สร้างขึ้นโดยการก่ออิฐถือปูนตามลักษณะสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกอันเป็นที่นิยมในสมัยนั้น



วัดอัษฎางคนิมิตร-เกาะสีชัง-19 วัดอัษฎางคนิมิตร-เกาะสีชัง-3

พระพุทธรูปบริเวณโคนต้นศรีมหาโพธิ์ และ พระเจดีย์อุโบสถของวัดอัษฎางคนิมิตร



     อาไศรยสถานสร้างเสร็จและเปิดใช้เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2432 แต่เดิมพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงตั้งพระราชหฤทัยให้ผู้ป่วยทั่วไปสามารถใช้อาไศรยสถานเป็นที่พักฟื้นรักษาตนได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพียงแต่ต้องอยู่ในระเบียบบางประการซึ่งพระองค์ทรงกำหนดขึ้น เช่น ต้องรักษาสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ให้อยู่ในสภาพเดิม เครื่องผ้าต้องซักและพับให้เรียบร้อย เป็นต้น

     ต่อมาในปี พ.ศ. 2434 “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ” ทรงพระประชวรหนักจำต้องเสด็จฯ มาประทับอยู่ ณ อาไศรยสถาน ในกาลนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เสด็จฯ มาประทับที่เกาะสีชังนานหลายเดือนเพื่อทรงอภิบาลสมเด็จฯ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ ช่วงระยะเวลาดังกล่าวจึงไม่อนุญาตให้บุคคลทั่วไปเข้าพักยังอาไศรยสถานชั่วคราว ปีถัดมา (พ.ศ. 2435) มีพระบรมราชโองการประกาศให้บริเวณนี้เป็นเขตพระราชฐาน ผู้ป่วยทั่วไปจึงไม่สามารถเข้าพักที่อาไศรยสถานได้เป็นการถาวรนับแต่บัดนั้น

     ครั้นเมื่อสมเด็จฯ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธทรงคลายจากพระอาการประชวร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการก่อสร้างสาธารณสถานบนเกาะสีชังเพิ่มเติ่มอีกหลายแห่ง และพระราชทานนามของสถานที่ต่างๆ เหล่านั้นตามพระนามของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ (เช่น สะพานอัษฎางค์ , อัษฎางค์ประภาคาร , ถนนอัษฎางค์ , ฯลฯ)




วัดอัษฎางคนิมิตร-เกาะสีชัง-18 วัดอัษฎางคนิมิตร-เกาะสีชัง-7 วัดอัษฎางคนิมิตร-เกาะสีชัง-8 วัดอัษฎางคนิมิตร-เกาะสีชัง-4

"วัดอัษฎางคนิมิตร" วัดไทยซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากงานสถาปัตยกรรมแบบโกธิก


     

     - พระตำหนักมรกตสุทธิ์ สถานที่ประสูติเจ้าฟ้า : พระตำหนักมรกตสุทธิ์มีลักษณะเป็นอาคารไม้ทาสีเขียวสองชั้น หลังคาปั้นหยามีเชิงชายไม้ฉลุสวยงาม “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก” พระราชโอรสองค์ที่ 27 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงมีพระประสูติกาล ณ พระตำหนักแห่งนี้ในช่วงค่ำของวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2435

     - วัดอัษฎางคนิมิตร วัดไทยที่สร้างขึ้นโดยได้รับอิทธิพลมาจากงานสถาปัตยกรรมแบบโกธิก : ในปี พ.ศ. 2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงมีพระราชดำริว่า ที่ดินติดกับเขต “วัดเกาะสีชัง” มีเรือนพักสำหรับให้ชาวตะวันตกเช่าตั้งอยู่ อีกทั้งในเวลาที่พระองค์เสด็จฯ มาประทับแรมบนเกาะสีชังก็ประทับใกล้กับวัดทำให้บริเวณนั้นพลุกพล่านไม่เหมาะแก่ปฏิบัติศาสนกิจของพระภิกษุสงฆ์ พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดขึ้นใหม่บนไหล่เขาด้านทิศใต้ของเขตพระราชฐานและพระราชทานนามวัดใหม่แห่งนี้ว่า “วัดอัษฎางคนิมิตร



พระจุฑาธุชราชฐาน-เกาะสีชัง-52 พระจุฑาธุชราชฐาน-เกาะสีชัง-53 พระจุฑาธุชราชฐาน-เกาะสีชัง-54

มุมมองแบบกว้างไกลสุดสายตาจากจุดชมทิวทัศน์ "เขาน้อย"
แลเห็นเจดีย์พระอุโบสถ "วัดอัษฎางคนิมิตร" และท่าเทียบเรือน้ำลึกอยู่ไกล ๆ




     ภายในบริเวณวัดอัษฎางคนิมิตรมี “พระเจดีย์อุโบสถ” ซึ่งเป็นพระอุโบสถที่มีลักษณะแตกต่างจากพระอุโบสถทั่วๆ ไปในสมัยนั้นกล่าวคือ ตัวพระอุโบสถสร้างเป็นอาคารรูปทรงกลม ส่วนบนหลังคาทำเป็นยอดเจดีย์ทรงลังกา พื้นปูแผ่นหินอ่อนสีขาวสลับดำ ประตูและหน้าต่างทำเป็นรูปโค้งยอดแหลม ช่องแสงประดับกระจกสีแบบสถาปัตยกรรมโกธิก กำแพงแก้วทำเป็นลูกกรงกระเบื้องดินเผาเคลือบล้อมรอบ บนราวลูกกรงตั้งศิลาจารึกคำสอนในพระพุทธศาสนา 8 แห่ง ด้านหน้าพระเจดีย์อุโบสถฝั่งทิศตะวันออกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนำหน่อมาจากพุทธคยา ประเทศอินเดียไว้



แหลมวัง-เกาะสีชัง-9 สะพานอัษฎางค์-เกาะสีชัง-6 แหลมวัง-เกาะสีชัง-52 แหลมวัง-เกาะสีชัง-5

...............สถานที่ซึ่งย้ำเตือนถึงความทรงจำแห่งอดีตกาล...............


แหลมวัง-เกาะสีชัง-1 สะพานอัษฎางค์-เกาะสีชัง-12

รุ่งสางบริเวณ "ประภาคารแหลมวัง" และ "สะพานอัษฎางค์"



     - จุดชมทิวทัศน์เขาน้อย หนึ่งในจุดชมทิวทัศน์จากมุมสูงของเกาะสีชัง : ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของพระจุฑาธุชราชฐานมีเนินเขาลูกเล็กๆ เรียกว่า “เขาน้อย” ตั้งอยู่ บนเนินเขาลูกนี้มีการต่อบันไดและระเบียงไม้เอาไว้ เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินขึ้นไปชมทิวทัศน์ของท้องทะเลและวัดอัษฎางคนิมิตจากในมุมสูงได้ ระหว่างเส้นทางเดินสู่จุดชมทิวทัศน์เขาน้อยนักท่องเที่ยวจะได้พบเห็นความสวยงามของต้นลีลาวดีที่ออกดอกสีขาวบานสะพรั่งอยู่ตลอดสองข้างทาง


สะพานอัษฎางค์-เกาะสีชัง-2 สะพานอัษฎางค์-เกาะสีชัง-5

...............อีกมุมหนึ่งของ "สะพานอัษฎางค์" ในยามเช้า...............



     - สะพานอัษฎางค์ จุดถ่ายภาพยอดนิยมของคู่รัก : ในอดีตที่เกาะสีชังเวลาน้ำลง เรือเข้าจอดได้ไม่ถึงชายหาด คนต้องเดินลุยน้ำถูกหอยบาดเท้าบาดขาเกิดบาดแผลเจ็บปวด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพานเทียบเรือใหญ่ทำด้วยไม้สักทาสี เสาก่อศิลาโบกปูนซีเมนต์ มีที่พักต้นสะพาน 1 หลัง กลางสะพาน 1 หลัง และปลายสะพาน 1 หลัง พร้อมทั้งพระราชทานนามว่า “สะพานอัษฎางค์” สำหรับอ่าวอันเป็นที่ตั้งของสะพานอัษฎางค์นั้นมีหาดทรายสีน้ำตาลอ่อนที่สวยงามชื่อว่า “หาดทรายแก้ว” แต่บริเวณชายหาดแห่งนี้ไม่เหมาะแก่การลงเล่นน้ำเนื่องจากมีก้อนหินขรุขระอยู่ใต้น้ำมาก

     ปัจจุบันบริเวณสะพานอัษฎางค์และหาดทรายแก้วได้กลายเป็นจุดถ่ายภาพยอดนิยมของนักท่องเที่ยวซึ่งเดินทางมายังเกาะสีชัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามเช้าที่ดวงอาทิตย์ค่อยๆ แย้มกรายฉายแสงส่องไปทั่วท้องนภาฟ้ากว้างนั้นเป็นช่วงเวลาที่บรรยากาศรอบๆ สะพานอัษฎางค์แห่งนี้งดงามยิ่งกว่าช่วงเวลาใดๆ เลยทีเดียว


สะพานอัษฎางค์-เกาะสีชัง-18


เรือประมงที่จอดเกยตื้นอยู่หน้า "หาดทรายแก้ว"




     
- อัษฎางค์ประภาคาร หรือ ประภาคารแหลมวัง แสงส่องทางที่เลือนรางหรี่ลับไปกับกาลเวลา : กลางท้องน้ำทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะสีชังมีศิลาสัมปะยื้อกีดขวางระหว่างเส้นทางเดินเรือ และอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่เรือซึ่งแล่นเข้า – ออกจากเกาะสีชัง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้าง “อัษฎางค์ประภาคาร” ขึ้นเพื่อใช้ส่องสัญญาณไฟนำทางให้แก่เรือต่างๆ ในยามค่ำคืน และมีเรือนให้คนรักษาประภาคารอยู่ทำหน้าที่ประจำ 1 หลัง เนื่องจากอัษฎางค์ประภาคารตั้งอยู่บริเวณส่วนปลายสุดของ “แหลมวัง” ชาวบ้านบนเกาะสีชังจึงนิยมเรียกประภาคารแห่งนี้ในอีกชื่อหนึ่งว่า “ประภาคารแหลมวัง

     ทุกวันนี้อัษฎางค์ประภาคารอยู่ในสภาพที่ชำรุดทรุดโทรมจนไม่สามารถใช้งานได้เนื่องจากขาดการบำรุงรักษา อีกทั้งยังมีการสร้างประภาคารหลังใหม่ขึ้นใกล้ๆ กับ “ท่าเรือเทวงษ์ (ท่าล่าง)” ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะสีชังจึงทำให้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้งานอัษฎางค์ประภาคารอีกต่อไป

     อัษฎางค์ประภาคารตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเกาะสีชัง บริเวณโดยรอบประภาคารแห่งนี้จึงกลายเป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นที่สวยงามอีกแห่งหนึ่ง



           
แหลมวัง-เกาะสีชัง-


เก้าอี้ไม้ใต้ร่มเงาของต้นลีลาวดีใกล้ ๆ "ท่าน้ำหน้าวัง"


     - หาดหน้าวัง ชายหาดในเขตพระราชฐาน : บริเวณท่าน้ำหน้าวังด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของซากฐาน “พระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์” เป็นที่ตั้งของหาดทรายปนกรวดสีน้ำตาลอ่อนยาวประมาณ 300 เมตร เรียกว่า “หาดหน้าวัง” ถึงแม้ชายหาดแห่งนี้จะมีความสวยงามแต่ก็ไม่เหมาะแก่การลงเล่นน้ำเนื่องจากมีโขดหินแหลมคมใต้น้ำอยู่มาก นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จึงนิยมเพียงแค่เดินเลียบเลาะชมความงดงามของหาดหน้าวังอยู่บนแนวสันเขื่อนป้องกันคลื่นเท่านั้น



เกาะสีชัง
(กรุณาคลิ๊ก “ ชื่อสถานที่ท่องเที่ยว” เพื่อชมภาพถ่ายและข้อมูลของสถานที่แต่ละแห่งโดยละเอียด)
หน้า 1
 เกาะสีชัง - พระจุฑาธุชราชฐาน
หน้า 2
 วัดอัษฎางคนิมิตร - สะพานอัษฎางค์ - จุดชมทิวทัศน์เขาน้อย -
  ประภาคารแหลมวัง
หน้า 3
 วัดจุฑาทิศธรรมสภาราม - ศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ - ยอดพระจุลจอมเกล้า -
 ช่องเขาขาด
หน้า 4
 หาดถ้ำพัง - พระเหลือง - ถ้ำจักรพงษ์

 


โปรโมชั่นทัวร์และบัตรเข้าชมสถานที่/การแสดงอื่นๆ ในเขต จ.ชลบุรี ราคาพิเศษ !!
(กรุณาคลิ๊ก “ชื่อโปรแกรมทัวร์/ชื่อสถานที่ท่องเที่ยว” เพื่อชมภาพถ่ายและข้อมูลต่าง ๆ โดยละเอียด)


ประเภทบัตร & โปรแกรมทัวร์
ราคา (บาท)
1.   ทัวร์เกาะล้าน
650 - 2,590
2.   พิพิธภัณฑ์ริบลีส์ เชื่อหรือไม่ ! : Ripley's Believe It or Not ! Museum
250 - 1,590
3.   สวนนงนุช
190 - 3,800
4.   พิพิธภัณฑ์ตุ๊กตาหมีเทดดี้ : Teddy Bear Museum/Teddy Island Thailand
200 - 500
5.   อัลคาซ่าร์ คาบาเร่ต์ พัทยา : Alcazar Cabaret Pattaya
280 - 1,000
6.   ทิฟฟานี่โชว์ พัทยา : Tiffany Show Pattaya
550 - 1,600
7.   โคลอสเซียม พัทยา : Colosseum Show Pattaya
300 - 1,000
8.   สวนน้ำรามายณะ: Ramayana Water Park
900 - 1,190
9.   มายากลทักซิโด้ : Tuxedo Magic & Illusion Hall
200 - 900
10.  สวนเสือศรีราชา
170 - 450
11.  ปราสาทสัจธรรม
400 - 1,300
12.  อันเดอร์วอเตอร์เวิลด์ พัทยา : Underwater World Pattaya
200 - 500
13.  โชว์โลมาพัทยา : Pattaya Dolphinarium
400 - 1,100
14.  โลมาโชว์ : Pattaya Dolphin World
300 - 2,500
15.  บ้านสุขาวดี
180 - 5,000
16.  Art In Paradise
200 - 400

 






แผนผังเว็บไซต์ (Site Map)


บทความและภาพทุกภาพภายในเว็บไซต์หน้านี้เป็นลิขสิทธิ์ของท่องเที่ยวดอทคอม
(www.Thongteaw.com)
หากผู้ใดทำการคัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไขหรือนำไปใช้ในกรณีใด ๆ
โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากทางทีมงาน
จะถูกดำเนินการทางกฎหมายขั้นเด็ดขาด


Copy right © Since 2008 by Thongteaw.com - All Rights Reserved
เลขทะเบียนพาณิชย์อิเล็คโทรนิคส์ 3102201494154