Custom Search
 


ปางอุ๋ง โครงการพระราชดำริปางตอง 2 บ้านรวมไทย อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน



     ไม่ว่าจะต้องขึ้นเขา.....ลงห้วย.....เดินป่า หรือต้องฟันฝ่าสภาพภูมิประเทศอันยากลำบากสักเพียงไหน “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช” และ “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” ก็ยังคงเสด็จพระราชดำเนินไปเกือบทุกหนแห่งในประเทศไทยเพื่อเยี่ยมเยียนราษฎรของพระองค์.....จากการเสด็จฯ นี้เองที่ได้ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถทรงรับทราบถึงปัญหาความยากจน – ความทุกข์ร้อนลำบากต่างๆ ของราษฎรในแต่ละท้องถิ่นเป็นอย่างดี.....และด้วยน้ำพระราชหฤทัยอันเปี่ยมล้นของทั้งสองพระองค์ที่ทรงมุ่งหวังจะช่วยให้ราษฎรเหล่านั้นได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น.....โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำรินับร้อยนับพันโครงการจึงได้ถือกำเนิดขึ้น



ปางอุ๋ง-53 ปางอุ๋ง-194 ปางอุ๋ง-117 ปางอุ๋ง-18

บรรยากาศทั่วๆ ไปภายใน โครงการพระราชดำริปางตอง 2 : ปางอุ๋ง


ปางอุ๋ง-82


...........................ทิวสนริมอ่างเก็บน้ำ...........................




     ปางอุ๋งจากพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม กลับฟื้นคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์ด้วยแนวพระราชดำริ

     เดิมทีพื้นที่บริเวณ “อ่างเก็บน้ำปางตอง(ใหม่)” และ “ฝายปางอุ๋ง” ในเขต บ้านรวมไทย ตำบลหมอกจำแป่ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นพื้นที่ซึ่งมีการทำไร่เลื่อนลอย.....ปลูกฝิ่น.....ตัดไม้ทำลายป่ากันอย่างกว้างขวางต่อเนื่อง จวบจนกระทั่ง “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช” และ “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” ได้เสร็จฯ มาเยี่ยมเยียนราษฎรในเขตพื้นที่ดังกล่าว.....ณ กาลนั้น.....พระองค์ทรงเล็งเห็นว่าหากปล่อยให้สภาพการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป อีกไม่ช้านานประชาชนซึ่งอาศัยอยู่ในเขต “พื้นที่ลุ่มน้ำแม่สะงา” ทั้งหมดจะต้องได้รับผลกระทบจากระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลงเสียหายจนเกินเยียวยาอย่างแน่นอน เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2527 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีพระราชกระแสรับสั่งกับ “พลเอกปิ่น ธรรมศรี” หัวหน้าคณะทำงานส่วนพระองค์ในขณะนั้นว่า “ให้มีการปรับปรุงสภาพป่าบริเวณอ่างเก็บน้ำปางตอง(ใหม่) และฝายปางอุ๋ง ต.หมอกจำแป่ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ให้กลับคืนสู่สภาพเดิม”.......... โครงการพระราชดำริปางตอง 2 (ปางอุ๋ง) จึงถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2528



ปางอุ๋ง-17


...............แสงเงา.........................ยามเช้า...............




     การสร้าง “ป่าเปียก” เพื่อใช้เป็นแนวป้องกันไฟ , การปลูก “ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” , การปลูกหวายตามแนวพระราชดำริ , การจัดทำโครงการธนาคารอาหารชุมชน , ฯลฯ คือ สิ่งที่ราษฎรในท้องถิ่นร่วมกับเจ้าหน้าที่ของ “โครงการพระราชดำริปางตอง 2 (ปางอุ๋ง)” ช่วยกันดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องยาวนานนับ 10 ปี จนกระทั่งผืนป่าที่เคยเสื่อมโทรมโดยรอบ “บ้านรวมไทย” กลับฟื้นคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง


ปางอุ๋ง-59


..........ทิวทัศน์สวยๆ ที่ทำให้ใครๆ ก็อยากมาเยือน ปางอุ๋ง..........


ปางอุ๋ง-50


.....จากผืนป่าเสื่อมโทรมกลับฟื้นคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์ด้วยแนวพระราชดำริ.....




     เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2540 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ มาติดตามความคืบหน้าของโครงการพระราชดำริปางตอง 2 (ปางอุ๋ง) .....ในกาลนั้น.....พระองค์ท่านทรงมีพระราชเสาวนีย์ซึ่งเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ในโครงการฯ และประชาชนในท้องถิ่นตระหนักถึงความสำคัญของผืนป่า โดยมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า “ข้าพเจ้ารู้สึกดีใจมากที่ได้กลับมาเยี่ยมที่นี่อีกครั้ง เยี่ยมประชาชนทุกหมู่เหล่า และได้เห็นความตั้งใจของทุกๆ ท่านที่ช่วยกันรักษาป่า อันที่จริงคำว่า “ป่า” นี้ที่สำคัญก็หมายถึง “ต้นน้ำ” แหล่งที่ผลิตน้ำ.....ทำให้เกิดน้ำขึ้น เวลาฝนตกในหน้าฝน.....ต้นไม้นี้คอยเป็นที่เก็บน้ำไว้ใต้ดิน เก็บไว้ตามลำต้น ตามกิ่งก้าน ตามใบ และเสร็จแล้วจะกลับเลี้ยงผืนแผ่นดินนี้ด้วยน้ำที่เขาเก็บเอาไว้ .....ทุกคนก็รู้ดีว่า.....ในชีวิตของเราสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ “น้ำ” เราขาดข้าวขาดอาหารได้หลายวันแต่จะอยู่ได้ไม่กี่วันถ้าไม่มีน้ำ น้ำนี่เป็นสิ่งที่เลี้ยงดูชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย..........โลกของเรานี้น้ำมีค่ามากที่สุด เป็นของที่มีน้อย มีจำกัด..........เพราะฉะนั้นถ้าเราทุกคนรู้ถึงความหายาก ความที่มีค่าของน้ำ ก็ต้องรู้ด้วยว่าอะไรที่รักษาน้ำไว้ในดินให้กับเรา.....ก็คือ “ป่า”.....ก็คือ “ต้นไม้” และต้นไม้นี้เองทำให้เกิดฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล ประชาชนหลายแห่งพูดกับข้าพเจ้าว่า เดี๋ยวนี้ไม่ทราบว่าอะไรทำให้ฝนคลาดไปไม่ตรงต่อฤดูกาล อันที่จริงพวกเรานั่นเองที่ทำให้ฝนแล้ง.....ฝนคลาดเคลื่อนจากฤดูกาล จากการที่เราทำลายป่าเป็นจำนวนมาก..........ไม่ใช่ใครอื่นที่เราจะไปโทษได้ เพราะฉะนั้นขอให้ทุกคนรู้ว่าการรักษาป่า การดูแลโลกนี้.....ดูแลแผ่นดินนี้ให้มีต้นไม้นี่แหละ คือ เราสร้าง เราเก็บ “น้ำ” ทรัพยากรที่มีค่าที่สุดในชีวิตของเราไว้”




ปางอุ๋ง-48


ล่องแพใน อ่างเก็บน้ำปางตอง(ใหม่) ท่ามกลางความเหน็บหนาว



     .....ปัจจุบัน.....นอกจากโครงการพระราชดำริปางตอง 2 (ปางอุ๋ง) จะถือเป็นพื้นที่ต้นน้ำที่สำคัญของจังหวัดแม่ฮ่องสอนแล้ว สถานที่แห่งนี้ยังได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวผู้รักธรรมชาติ ภาพทิวทัศน์อันงดงามของหมู่สนที่ยืนต้นเรียงรายเป็นแถวเป็นแนว ประกอบกับอากาศที่บริสุทธิ์เย็นสบายเกือบตลอดทั้งปี (ยกเว้นฤดูร้อน อากาศจะร้อนอบอ้าวครับ) อีกทั้งมีสายหมอกจางๆ ลอยเหนืออ่างเก็บน้ำในช่วงฤดูหนาว คือ สิ่งที่สร้างความประทับให้แก่ผู้คนซึ่งได้มีโอกาสเดินทางมาเยือน.....ทั้งนี้.....นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะนิยมเรียกชื่อ “โครงการพระราชดำริปางตอง 2” สั้นๆ ว่า “ปางอุ๋ง”.....



ปางอุ๋ง-23


.........ภาพไอหมอกยามเช้าที่งดงามราวกับชิ้นงานจิตรกรรมเลื่องชื่อ.........
(นี่เป็นภาพถ่ายจริงที่ webmaster ของเราตกแต่งจนดูคล้ายกับภาพวาดครับ)


ปางอุ๋ง-36


.........................รุ่งอรุณ ณ ปางอุ๋ง.........................



     มาทำความรู้จักกับข้อมูลพื้นฐานของปางอุ๋งกันเถอะ

     ในภาษาเหนือคำว่า “ปาง” หมายถึง ที่พักของคนทำงานในป่า.....ส่วนคำว่า “อุ๋ง” นั้นก็คือ ที่ลุ่มต่ำคล้ายกระทะใบใหญ่มีน้ำขังเฉอะแฉะ เมื่อนำมารวมกันเป็น “ปางอุ๋ง” จึงมีความหมายว่า.....ที่ลุ่มน้ำขังอันเป็นแหล่งพำนักของคนทำงานในป่า.....นั่นเอง

     “ปางอุ๋ง” หรือ “โครงการพระราชดำริปางตอง 2” ตั้งอยู่ ณ บ้านรวมไทย ตำบลหมอกจำแป่ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางราว 1,200 เมตร มีเนื้อที่โครงการประมาณ 20,710 ไร่ อาณาเขตทางด้านทิศเหนือของ “ปางอุ๋ง” ติดต่อกับพื้นที่ “โครงการพระราชดำริปางตอง 1(ห้วยมะเขือส้ม)” และบ้านนาป่าแปก.....ทิศตะวันออกติดต่อกับพื้นที่ “โครงการพระราชดำริปางตอง 3 (แม่สะงา – หมอกจำแป่)” และถนนสายแม่ฮ่องสอน – บ้านรักไทย.....ทิศตะวันตกติดต่อกับพื้นที่ชายแดนของสหภาพพม่าราว 14.57 กิโลเมตร.....ส่วนทิศใต้ติดต่อกับพื้นที่บ้านดอยแสง ..........จนกระทั่ง..........เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2552 พื้นที่ทั้งหมดของปางอุ๋งก็ได้ถูกประกาศให้ควบรวมเข้าไปอยู่ในเขต “อุทยานแห่งชาติถ้ำปลาน้ำตกผาเสื่อ



ปางอุ๋ง-99 ปางอุ๋ง-77

........................................มุมถ่ายภาพยอดนิยม........................................


ปางอุ๋ง-84 ปางอุ๋ง-114

....................ปางอุ๋ง : ที่ลุ่มน้ำขังอันเป็นแหล่งพำนักของคนทำงานในป่า....................




     นักท่องเที่ยวมาทำอะไรกันบ้างที่ ปางอุ๋ง?

     ในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวแวะเวียนมาเยี่ยมเยือนปางอุ๋งมากกว่า 100,000 คน..........สำหรับผู้อ่านบทความบางท่านซึ่งยังไม่เคยเดินทางมายังปางอุ๋งก็อาจสงสัยว่าผู้คนนับแสนเหล่านี้เขาแห่มาทำอะไรกันบ้าง ? ซึ่งจากการสังเกตของทีมงานท่องเที่ยวดอทคอม (www.thongteaw.com) ก็ทำให้พวกเราได้พบว่า นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เดินทางมายังปางอุ๋งเพื่อ..........

     1. ตื่นมาชมไอหมอกจางๆ ซึ่งลอยอยู่เหนือ “อ่างเก็บน้ำปางตอง(ใหม่)” ท่ามกลางอากาศที่หนาวเหน็บในยามเช้า : ถึงแม้ว่าเราจะสามารถเห็นสายหมอกสีขาวลอยเหนืออ่างเก็บน้ำหลายๆ แห่งได้ในช่วงฤดูหนาว แต่ดูเหมือนทิวทัศน์ของต้นสนสามใบริมอ่างเก็บน้ำปางตอง(ใหม่)ที่มีไอหมอกเบาบางลอยล้อคลอเคลียอยู่ คือ สิ่งที่นักท่องเที่ยวซึ่งเดินทางมายังปางอุ๋งต้องการจะเห็นมากที่สุด.....ในยามสาย.....เมื่อดวงตะวันค่อยๆ สาดทอแสงทองผ่านยอดไม้ลงมาต้องกระทบกับผิวน้ำเกิดเป็นประกายระยับ ความงดงามของปางอุ๋งก็ยิ่งเพิ่มขึ้นมากเท่าทวีคูณ


               
ปางอุ๋ง-130 ปางอุ๋ง-138

........................................ทุ่งรวงข้าวสีทอง........................................


ปางอุ๋ง-126


.........................เส้นทางแห่งความพอเพียง.........................



     2. เดินชมดอกไม้ใน “สวนปางอุ๋ง” : เดิมทีพื้นที่บริเวณสวนปางอุ๋งนั้นเคยเป็นไร่ฝิ่นร้างมาก่อน ต่อมาภายหลังจากที่ได้มีการก่อตั้งโครงการพระราชดำริปางตอง 2 (ปางอุ๋ง) ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2528.....พื้นที่แห่งนี้จึงได้รับการพัฒนาโดยการปลูกพืชสมุนไพร พืชที่ใช้เป็นอาหาร ไม้ดอกไม้ประดับ และใช้เป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุ์ไม้รวมถึงสัตว์พื้นเมืองที่ใกล้จะสูญพันธุ์.....ระหว่างเส้นทางเดินชมทิวทัศน์ภายในสวนแห่งนี้ คุณอาจได้เห็นต้นผกากรองดัด , พุดสามสี , พวงแสด , นางพญาเสือโคร่ง , บ๊วย , สาลี่ , ฯลฯ หรืออาจจะได้พบกล้วยไม้หายากบางชนิด เช่น เอื้องเงินแดง , เอื้องนิ่มตาข่าย , เอื้องตาเหิน , เอื้องพญาไร้ใบ เป็นต้น.....กล้วยไม้เหล่านี้ส่วนใหญ่จะถูกปลูกไว้บนไม้ยืนต้นใกล้ๆ กับ “เส้นทางศึกษาธรรมชาติริมน้ำ” อันเป็นสถานที่ซึ่งคุณจะสามารถพบเห็นฝูงหงส์ดำและหงส์ขาวกำลังลอยตัวแหวกว่ายอยู่กลางธาราวารีอย่างสบายอารมณ์.....นอกจากนี้หากคุณอยากจะเห็น “เขียดแลว” กบภูเขาที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ก็ลองแวะไปยืนดูที่บ่อเพาะเลี้ยงซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเส้นทางศึกษาธรรมชาติริมน้ำได้ [“เขียดแลว” หรือ “กบทูด” เป็นกบภูเขาชนิดหนึ่ง เมื่อโตเต็มที่จะมีความยาวประมาณ 10 – 28 ซม.ถือเป็นกบภูเขาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก สามารถพบได้ตามเขตภูเขาสูงแถบภาคเหนือและภาคกลางของประเทศไทย เนื้อของเขียดแลวมีรสชาติดีทำให้ชาวบ้านนิยมจับมาบริโภคจนมีแนวโน้มใกล้จะสูญพันธุ์.....ปัจจุบัน.....โครงการพระราชดำริปางตอง 2 (ปางอุ๋ง) จึงได้จัดตั้งศูนย์เพาะเลี้ยงเขียดแลวขึ้นเพื่ออนุรักษ์พันธุ์สัตว์ประจำถิ่นชนิดนี้]



ปางอุ๋ง-107 ปางอุ๋ง-88

.....ที่นี่.....โครงการพระราชดำริปางตอง 2 : ปางอุ๋ง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน.....


ปางอุ๋ง-200 ปางอุ๋ง-118

.........................มวลหมู่ดอกไม้ในสวน.........................


   

     3. ล่องแพปล่อยอารมณ์ชมธรรมชาติ : นักท่องเที่ยวที่ต้องการจะสัมผัสกับบรรยากาศของอ่างเก็บน้ำปางตอง(ใหม่) แบบใกล้ชิดสนิทแนบแน่นก็สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่โครงการฯ เพื่อขอล่องแพชมธรรมชาติโดยรอบอ่างเก็บน้ำได้ ค่าบริการอยู่ที่ 150 บาท/แพ 1 ลำ (อนุญาตให้ผู้ใหญ่นั่งได้ 2 คน/ลำ ค่าบริการรวมเสื้อชูชีพแล้วครับ) ใช้เวลาในการล่องแพประมาณ 15 – 20 นาที/รอบ

     สำหรับนักท่องเที่ยวซึ่งเดินทางมายังปางอุ๋งแต่ไม่ได้ตระเตรียมเสบียงกรังใดๆ มา ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมแนะนำว่าให้เดินไปยัง “หมู่บ้านรวมไทย (อยู่ห่างจากปางอุ๋งเพียงแค่ไม่ถึง 200 เมตร) ที่นี่เขามีทั้งร้านกาแฟสด , ร้านอาหารตามสั่ง , ร้านก๋วยเตี๋ยว , ฯลฯ แถมยังสามารถหาซื้อไปรษณียบัตรสวยๆ ส่งกลับไปฝากคนไกลที่คุณคิดถึงได้ด้วย



               
ปางอุ๋ง-127


........................................บัวตองผลิบาน........................................


ปางอุ๋ง-164


.........................ครอบครัวของหงส์ดำ.........................



     ข้อควรรู้ : พื้นที่ปางอุ๋งสามารถต้อนรับนักท่องเที่ยวซึ่งมาพักค้างแรมได้ประมาณ 500 คน/วัน ช่วงฤดูท่องเที่ยว(ราวเดือน ส.ค. – ม.ค.ของทุกๆ ปี) ผู้ซึ่งต้องการจะพักค้างแรม ณ ปางอุ๋งจำเป็นต้องลงทะเบียนรับบัตรคิวที่ศูนย์ศิลปาชีพแม่ฮ่องสอนซึ่งตั้งอยู่ภายในตัวเมืองจึงจะสามารถนำรถเข้าไปยังพื้นที่ปางอุ๋งได้ (สามารถติดต่อขอรับบัตรคิวได้ทุกวันตั้งแต่เวลา 8.30 – 16.30 น. แต่หากเป็นช่วงนอกฤดูท่องเที่ยวจะสามารถขับรถเข้าไปติดต่อที่พัก ณ ปางอุ๋งได้เลยครับ) สำหรับนักท่องเที่ยวซึ่งไม่ได้พักค้างแรมแต่อยากจะเข้าไปเยี่ยมชมโครงการฯ ต้องนำรถยนต์ไปจอดบริเวณใกล้ๆ กับด่านตรวจ “บ้านนาป่าแปก”  แล้วต่อรถสองแถวเข้าไปยังปางอุ๋งโดยเสียค่าบริการ 50 บาท/คน/รอบ มีรถให้บริการตั้งแต่เวลา 04.00 – 18.00 น. (นักท่องเที่ยวซึ่งไม่ได้พักค้างแรม ณ ปางอุ๋งจะไม่ได้รับอนุญาตให้นำรถเข้าไปยังพื้นที่โครงการฯ เนื่องจากถนนบางช่วงค่อนข้างแคบ รถยนต์วิ่งสวนทางกันลำบากครับ) นักท่องเที่ยวสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับปางอุ๋งเพิ่มเติมได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ (053) 611 – 244 หรือ (087) 611 – 8594

ปางอุ๋ง-101


...................................ปางอุ๋ง ในห้วงแห่งความรัก...................................


 

ปางอุ๋ง-147 ปางอุ๋ง-143

บ้านรวมไทย คือ สถานที่ตั้งของ โครงการพระราชดำริปางตอง 2 : ปางอุ๋ง




     การเดินทางสู่ปางอุ๋ง :

     รถยนต์ส่วนบุคคล จากตัวเมืองแม่ฮ่องสอนให้ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1095 มุ่งหน้าไปทาง อ.ปางมะผ้า ก่อนถึง “ถ้ำปลา” เล็กน้อยจะพบทางแยกซ้ายมือไป “บ้านหมอกจำแป่” ให้เลี้ยวซ้ายบริเวณแยกดังกล่าวแล้วขับรถตรงไปเรื่อยๆ จนพบกับสามแยก จากนั้นให้เลี้ยวขวามุ่งตรงไปเรื่อยๆ ผ่านน้ำตกผาเสื่อ.....ผ่านแยกเข้าพระตำหนักปางตอง จนกระทั่งถึงสามแยกบ้านนาป่าแปก ให้เลี้ยวซ้ายไปตามป้ายบอกทางจนถึงด่านตรวจ กรณีที่ติดต่อรับบัตรคิวพักค้างแรม ณ ปางอุ๋งมาแล้วเจ้าหน้าที่จะอนุญาตให้ขับรถผ่านไปได้จนถึงที่ทำการโครงการฯ.....ส่วนกรณีที่ไม่ได้ติดต่อรับบัตรคิวมาจะต้องจอดรถไว้บริเวณใกล้ๆ ด่านตรวจแล้วต่อรถสองแถวเข้าไปยังปางอุ๋ง (หากอยู่นอกช่วงฤดูท่องเที่ยวจะสามารถขับรถผ่านด่านตรวจเข้าไปได้เลยโดยไม่มีการตรวจบัตรคิวครับ)  

     รถประจำทาง
มีรถประจำทางจาก “ตลาดสายหยุด” ในตัวเมืองแม่ฮ่องสอนไปยังปางอุ๋งได้ทุกวัน วันละ 2 เที่ยว เวลา 9.00 น.และ 14.00 น. ส่วนขากลับมีรถออกจากปางอุ๋งวันละ 2 เที่ยว เวลา 5.00 น. และ 11.00 น.

     ฤดูกาลท่องเที่ยวที่เหมาะสม : สามารถท่องเที่ยวได้ทุกฤดู แต่ช่วงฤดูหนาวจะเป็นช่วงที่ปางอุ๋งมีความสวยงามมากที่สุด (กรณีเดินทางมายังปางอุ๋งในช่วงฤดูฝนจะต้องใช้ความระมัดระวังในการขับขี่ยานพาหนะมากกว่าปกติ เนื่องจากเส้นทางบางช่วงคดเคี้ยวและสูงชันครับ)

     ขอขอบคุณ
: ข้อมูลอ้างอิงบางส่วนจากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ 16

     หมายเหตุ
: ข้อมูลบางอย่างของ “ปางอุ๋ง” อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปได้ในปัจจุบัน

     ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง : ที่พัก/โรงแรม/รีสอร์ท ในย่านตัวเมืองแม่ฮ่องสอน



สถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน
(กรุณาคลิ๊ก “ ชื่อสถานที่ท่องเที่ยว” เพื่อชมภาพถ่ายและข้อมูลของสถานที่แต่ละแห่งโดยละเอียด)

อ.เมือง
 พระธาตุดอยกองมู , วัดจองคำ - วัดจองกลาง , วัดหัวเวียง ,
 ถ้ำปลา , น้ำตกผาเสื่อ , บ่อน้ำร้อนผาบ่อง , ถนนคนเดินแม่ฮ่องสอน ,
 บ้านห้วยเสือเฒ่า , หมู่บ้านจีนยูนนาน - บ้านรักไทย , ภูโคลน - คันทรีคลับ ,
 โครงการพระราชดำริปางตอง-4-พระตำหนักปางตอง
อ.ปาย
 วัดน้ำฮู , กองแลน , บ้านสันติชล , สะพานประวัติศาสตร์ปาย ,
 ถนนคนเดินปาย , น้ำตกหมอแปง , โป่งน้ำร้อนท่าปาย
อ.ขุนยวม
 ทุ่งดอกบัวตอง-ดอยแม่อูคอ , ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ ,
 น้ำตกแม่สุรินทร์
อ.ปางมะผ้า
 ถ้ำลอด
อ.แม่ลาน้อย
 ถ้ำแก้วโกมล


     ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง >> : ที่พัก/โรงแรม/รีสอร์ทใน จ.แม่ฮ่องสอน
 






แผนผังเว็บไซต์ (Site Map)


บทความและภาพทุกภาพภายในเว็บไซต์หน้านี้เป็นลิขสิทธิ์ของท่องเที่ยวดอทคอม
(www.Thongteaw.com)
หากผู้ใดทำการคัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไขหรือนำไปใช้ในกรณีใด ๆ
โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากทางทีมงาน
จะถูกดำเนินการทางกฎหมายขั้นเด็ดขาด


Copy right © Since 2008 by Thongteaw.com - All Rights Reserved
เลขทะเบียนพาณิชย์อิเล็คโทรนิคส์ 3102201494154