Custom Search
 



พิษสุนัขบ้า


     สุนัขเป็นสัตว์เลี้ยงยอดนิยมชนิดหนึ่ง ด้วยความซื่อสัตย์ น่ารักน่าชัง ขี้เล่นและอารมณ์ดี ทำให้พวกมันกลายเป็นที่ชื่นชอบของคนส่วนใหญ่ได้อย่างไม่ยากเย็นนัก แม้แต่คนซึ่งไม่ใช่สุนัขหากพยายามใช้อวัยวะภายในช่องปากซึ่งมีหน้าที่รับรสกระทำพฤติกรรมเลียนแบบเจ้าสัตว์สี่ขาหน้าขนประเภทนี้อยู่เรื่อย ๆ ก็ยังสามารถได้รับความเอ็นดู อุ้มชู อุปถัมภ์ จากผู้หลักผู้ใหญ่ในสถานที่ทำงานหลาย ๆแห่งได้ราวกับว่าเขาและเธอเหล่านั้นเป็นสุนัขจริง ๆเฉกเช่นเดียวกัน ซึ่งผู้หลักผู้ใหญ่ผู้รักสัตว์เหล่านั้นอาจมิเคยตระหนักถึงพิษภัยว่า ยามที่บุคคลผู้ซึ่งมีนิสัยละม้ายคล้ายคลึงกับเจ้าสัตว์สี่ขาหน้าขนเหล่านี้อยู่ลับหลังหรือไม่ได้สิ่งต่าง ๆสมดังใจหวังแล้วล่ะก็ พวกเขาและเธอก็พร้อมที่จะหันมาแว้งกัด ฉีกทึ้ง ดึงซากเหยื่อผู้น่าสงสารออกเป็นเศษเล็กเศษน้อยไม่ให้เหลือชิ้นดีได้ราวกับสุนัขซึ่งติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าเลยทีเดียว
      “โรคพิษสุนัขบ้า” หรือ “โรคกลัวน้ำ” เกิดจากเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้า (Rabies Virus) ซึ่งหากบุคคลผู้โชคร้ายได้รับเชื้อไม่ได้รับการฉีดวัคซีนและ/หรือเซรุ่มภายในระยะเวลาที่เหมาะสมก็สามารถเกิดอาการของโรคจนเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ บุคคลส่วนใหญ่จะได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้าจากการกัด/ข่วนของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (อาทิเช่น สุนัข ,แมว ,หนู ,กระรอก ,ค้างคาว เป็นต้น) หรือ การสัมผัสกับวัตถุก่อโรคอื่น ๆจากสัตว์ที่ติดเชื้อผ่านทางเยื่อเมือกและเยื่อบุผิวต่าง ๆ (เช่น น้ำลายสัตว์กระเด็นเข้าตา/จมูก/ปาก/บาดแผล ,เศษสมองหรือไขสันหลังของสัตว์สัมผัสกับบาดแผล/เยื่อเมือก/เยื่อบุผิวต่าง ๆของคนระหว่างการตัดศีรษะของสัตว์นำส่งตรวจเชื้อ) ผู้ได้รับเชื้ออาจเกิดอาการของโรคพิษสุนัขบ้าภายหลังจากการรับเชื้อเป็นระยะเวลาได้ตั้งแต่ 4 วัน – 4 ปี (แต่ผู้ได้รับเชื้อส่วนใหญ่จะเกิดอาการของโรคภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน) สามารถแบ่งระยะเวลาแสดงอาการของโรคพิษสุนัขบ้าในคนได้ดังต่อไปนี้

     1. ระยะอาการนำ ระยะ 2 – 3 วันแรกผู้ป่วยจะมีไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน เจ็บคอ คล้ายจะเป็นหวัด คัน ปวดแสบปวดร้อนบริเวณแผลที่ถูกกัด (แม้ว่าแผลที่เคยถูกกัดจะหายเป็นปกติแล้วก็ตาม)
     2. ระยะอาการทางระบบประสาทผู้ป่วยจะมีอาการตื่นเต้นง่าย กังวล กระสับกระส่าย ประสาทไว สะดุ้งเกร็งต่อสิ่งสัมผัสต่าง ๆ ไม่ชอบลม ไม่ชอบแสงสว่าง ไม่ชอบเสียงดัง น้ำลายไหลมากผิดปกติต้องบ้วนเป็นระยะ ๆกลืนอาหารลำบากและเจ็บคอมากเวลากลืนเนื่องจากกล้ามเนื้อในลำคอกระตุกเกร็ง หากดื่มน้ำจะสำลัก ระยะนี้ผู้ป่วยจะยังพอมีสติพูดจารู้เรื่องอยู่บ้าง แต่ผู้ป่วยบางรายก็อาจมีอาการประสาทหลอน ดุร้าย บางครั้งร้องโหยหวน คลุ้มคลั่ง อาละวาด
     3. ระยะสุดท้าย หายใจกระตุก ชัก อัมพาต ไม่รู้สึกตัวและเสียชีวิตในท้ายที่สุด ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเสียชีวิตภายในระยะเวลาประมาณ 7 – 10 วันหลังจากเริ่มแสดงอาการนำ และจะเสียชีวิตภายในระยะเวลาประมาณ 3 วัน ภายหลังจากเริ่มแสดงอาการทางระบบประสาท ปัจจุบันนี้ผู้ซึ่งแสดงอาการป่วยของโรคพิษสุนัขบ้าแล้วยังไม่มีทางรักษาให้หายได้ สรุปคือป่วยแล้วตายทุกราย.....ซี้แหงแก๋.....

     จะเห็นได้ว่าอาการของโรคพิษสุนัขบ้าน่ากลัวซะขนาดนี้แต่ก็ยังมีผู้ที่นิยมชมชอบปล่อยให้สุนัขมาเลียหน้า เลียปาก เลียตา อยู่เนือง ๆ หรือบางคนก็อาจจะพยายามทำเท่ห์ กิ๊บเก๋ โชว์เหนือ ประมาณว่าโดนสุนัขกัดแผลนิดเดียวเดี๋ยวก็หาย.....ผลปรากฏว่าบางคนก็หายจริง ๆโดยไม่ได้เกิดโรคพิษสุนัขบ้าใด ๆตามมา ส่วนบางคนก็ลาลับหายไปจากโลกด้วยโรคพิษสุนัขบ้าอย่างน่าสลดสังเวชใจ หรือบางคนอาจจะสำคัญตนผิดคิดว่าเก่งยิ่งกว่าสัตวแพทย์โดยประเมินเอาเองว่าสุนัขลักษณะท่าทางแบบนี้ไม่น่าจะบ้า.....กัดเข้ามาก็ไม่กลัว สุดท้ายเก่งไม่ชัวร์ เลยต้องฝังตัวเองไปกับโลง.....อนิจจาน่าอนาถ ชะตาขาดเพราะประมาทแท้จริงเชียว สำหรับผู้ที่ไม่ชอบความประมาทมีข้อมูลทางการแพทย์ยืนยันมาแล้วว่า สุนัขที่ป่วยจะเริ่มปล่อยเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าออกมาทางน้ำลายได้ตั้งแต่ 3 วันก่อนเริ่มมีอาการผิดปกติ เพราะฉะนั้นสุนัขซึ่งดูเหมือนไม่ป่วยแท้จริงแล้วอาจจะได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้าเข้าไปเรียบร้อยแล้วก็เป็นได้ แต่อย่างไรก็ตามการรู้จักสังเกตอาการของสัตว์ที่น่าสงสัยว่าจะบ้าก็ยังเป็นเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญเพื่อการหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์นำโรคเหล่านั้น อาการของสัตว์ที่น่าจะป่วยเป็นโรคพิษสุนัขบ้าพบได้ 2 แบบดังต่อไปน

     1. แบบดุร้าย สัตว์จะมีอาการหงุดหงิด กระวนกระวาย ไม่อยู่นิ่ง ตัวแข็ง น้ำลายไหล กัดทุกอย่างที่ขวางหน้า ถ้าผูกโซ่หรือขังไว้ในกรงจะกัดโซ่ กรง หรือสิ่งของที่อยู่ใกล้อื่น ๆอย่างดุร้าย บางครั้งจะกัดสิ่งต่าง ๆจนฟันหักหรือลิ้นเป็นแผลมีเลือดออก ภายหลังจากแสดงอาการดุร้ายได้ 2 – 3 วันก็จะอ่อนเพลียลง กล้ามเนื้อขาอ่อนแรง ทรงตัวไม่ได้ ล้มแล้วลุกไม่ขึ้นและตายในที่สุด
     2. แบบเซื่องซึม สัตว์จะมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเคยชอบเล่นกลับกลายเป็นซึม ชอบหลบซุกตัวในที่มืด ๆ กินข้าวกินน้ำน้อยลง อ้าปากแล้วหุบไม่ได้ ลิ้นมีสีแดงคล้ำห้อยออกมานอกปาก คอบวม พยายามเอาขาหน้าตะกุยบริเวณแก้มและปาก มีอาการคล้ายกับมีกระดูก/สิ่งแปลกปลอมติดคอ (แต่ความจริงแล้วจะไม่พบสิ่งแปลกปลอมใด ๆอยู่ในคอ) สัตว์จะลุก นั่ง เดินไปมาบ่อยไม่อยู่นิ่ง กินของแปลก ๆ เช่น ใบไม้ ก้อนหิน จะไม่กัดถ้าไม่ถูกรบกวน ต่อมาจะมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ อัมพาตและตายในที่สุด กรณีนี้แยกยากจากอาการป่วยทั่ว ๆไปของสัตว์ที่ไม่ได้เป็นโรคพิษสุนัขบ้า


     นอกจากการหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์นำโรคพิษสุนัขบ้าซึ่งมีอยู่หลากหลายชนิดแล้วยังมีวิธีการป้องกันการติดเชื้อพิษสุนัขบ้าในกรณีที่ท่านถูกสัตว์ซึ่งสงสัยว่าอาจมีเชื้อพิษสุนัขบ้ากัด/ข่วน/เลียบาดแผลดังต่อไปนี้

     1. กรณีไม่มั่นใจว่าสัตว์เป็นโรคพิษสุนัขบ้าหรือไม่ ต้องคิดว่าสัตว์เป็นโรคเอาไว้ก่อน ให้ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดพร้อมกับฟอกสบู่บริเวณแผลทันทีหลาย ๆครั้ง (อย่างน้อย 2 – 3 รอบ) แล้วทำความสะอาดแผลซ้ำด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคซึ่งมีส่วนผสมของ iodine (Povidine solution เป็นต้น)
     2. รีบไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และ/หรือ เซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า รวมถึงวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก ไม่ควรรอดูอาการสัตว์เพราะอาจสายเกินไปที่จะฉีดวัคซีนและเซรุ่ม
     3. กรณีสัตว์ตายให้ส่งซากตรวจหาเชื้อ (ส่วนใหญ่หากสัตว์นั้นมีเชื้อพิษสุนัขบ้าและแสดงอาการป่วยแล้ว สัตว์จะตายภายในระยะเวลาไม่เกิน 10 วัน) แล้วแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ทราบเพื่อทำการควบคุมโรคต่อไป (หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ ที่นี้หมายถึงหน่วยงานด้านสาธารณสุขหรือหน่วยงานด้านปศุสัตว์)

     สำหรับท่านที่เลี้ยงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประเภทต่าง ๆไว้ภายในบ้าน ควรนำสัตว์เหล่านั้นไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตามกำหนด ส่วนใหญ่หากสัตว์ได้รับการฉีดวัคซีนป้องพิษสุนัขบ้าติดต่อกันอย่างน้อย
2 ปี โอกาสเกิดโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์นั้น ๆจะต่ำมาก ผู้ที่ชอบให้สัตว์เลี้ยงเลียหน้า เลียปาก เลียจมูก ควรทำตามคำแนะนำในการฉีดวัคซีนสัตว์เลี้ยงนี้เป็นอย่างยิ่ง
     โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสสามารถติดต่อจากสัตว์สู่คนได้ทุกฤดูกาลมิได้เกิดขึ้นแต่เฉพาะในช่วงฤดูร้อนอย่างที่หลายคนเคยเข้าใจกัน เพราะฉะนั้นหากท่านถูกสัตว์กัด/ข่วน หรือสัมผัสกับน้ำลายของสัตว์ผ่านทางเยื่อบุผิว/บาดแผลต่าง ๆนอกช่วงฤดูร้อนและไม่สามารถมั่นใจได้ว่าสัตว์นั้นมีเชื้อพิษสุนัขบ้าอยู่หรือไม่ ก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องเข้ารับการฉีดวัคซีน และ/หรือ เซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตามความเหมาะสม



 


แผนผังเว็บไซต์ (Site Map)


Copy right © Since 2008 by Thongteaw.com - All Rights Reserved
เลขทะเบียนพาณิชย์อิเล็คโทรนิคส์ 3102201494154