Custom Search
 


ปวดต้นคอ



ปวดต้นคอมีกี่ชนิด และเป็นอย่างไรบ้าง

สาเหตุที่พบบ่อย ๆ มี 2 ชนิด คือ

1.เกิดจากกระดูกสันหลัง หรือหมอนรองกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาทคอ
อาการปวดชนิดนี้ มักปวดบริเวณคอ แล้วร้าวไปที่สะบัก แขน หรือเสียวแปลบไปตามแขน บางทีอาจมีอาการชา หรืออ่อนแรงด้วย มักเป็นในวัยกลางคนขึ้นไป (ทั้งหญิง และชาย)  บางคนเคยประสบอุบัติเหตุที่ศีรษะ และคอ ทำให้อาจเป็นตั้งแต่วัยหนุ่มสาวก็ได้

2.เกิดจากการเกร็งของกล้ามเนื้อคอด้านหลัง
มักเป็นขึ้นมาเองเวลาเครียดมาก ๆ และพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือที่เราเรียกว่า “ตกหมอน” นั่นเอง อาการปวดชนิดนี้ วัยหนุ่มสาวก็เป็นมากสังเกตง่าย ๆ ว่าวันไหนเครียดมาก ๆ นอนไม่หลับ อดนอน รุ่งเช้าก็มักจะมีอาการทันที

3.ส่วนสาเหตุอื่น ๆ เช่น ปวดจากโรคหัวใจร้าวมาที่ต้นคอ ปวดจากโรคของหู คอ ก็มีบ้าง แต่พบน้อย


เวลาปวดมาก ๆ จะทำอย่างไร

ขณะที่มีอาการปวด ให้ทำดังนี้

1.พยายามอย่าเคลื่อนไหวคอ ทางที่ดีควรหาโอกาสนอนราบชั่วคราว เพราะจะทำให้คอไม่ต้องแบกน้ำหนักของศีรษะ

2.พัก อาจจะนอนพักสัก 2 – 3 วัน หรือบางคนอาจต้องพักสัก 5 – 6 วัน การพักโดยเฉพาะการนอน จะช่วยให้คลายเครียด กล้ามเนื้อจะคลายตัว และขณะพัก ถ้าทำสมาธิไปด้วย จะทำให้คลายเครียดได้มากยิ่งขึ้น

3.การประคบด้วยน้ำแข็ง หรือน้ำร้อน ในระยะแรกอาจใช้น้ำแข็งทุบใส่ถุงพลาสติกห่อผ้าขนหนู วางบริเวณที่ปวด จะบรรเทาอาการปวดได้ หรือจะใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบประมาณ 10 – 15 นาทีก็ได้

4.การกินยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล ขนาด 500 มิลลิกรัม 1 เม็ด ทุก 4 – 6 ชั่วโมง อาการปวดจะทุเลาลงภายใน เวลา 2 ชั่วโมง บางครั้งกินยาเพียง 1 – 2 วันก็หายสนิทสามารถหยุดกินยาได้

5.การใส่ปลอกคอมักไม่มีความจำเป็น ยกเว้นรายที่ปวดมาก ถ้ากินยาแล้วยังไม่ทุเลา อาจทำปลอกคอง่าย ๆ โดยใช้ผ้าขนหนูขนาดกลางพับเป็นแถบกว้า 3 – 4 นิ้ว พันรอบคอ แล้วใช้เข็มกลัดซ่อนปลายกลัดให้แน่นพอที่จะกันไม่ให้ก้มหรือตะแคงคอได้ แต่ต้องไม่แน่นมากจนอึดอัดหายใจไม่สะดวก

ถ้ารักษาด้วยยา และวิธีดังกล่าวข้างต้นแล้ว อาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการกดทับเส้นประสาทมาก ควรรีบปรึกษาแพทย์


การป้องกันอาการปวดต้นคอทั้งสองสาเหตุ ดังนี้

1.ลดความเครียด
ไม่ว่าโดยการพักผ่อน ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทำงานอดิเรก ทำสมาธิ เดินทางท่องเที่ยวหรือลดงานที่เกินกำลังลงบ้าง เมื่อความเครียดลดลง กล้ามเนื้อคอจะคลายตัว เลือดจะไหลไปเลี้ยงกระดูกคอได้ดีขึ้น การเสื่อม และการงอกของกระดูกคอที่จะไปกดทับเส้นประสาทก็จะลดลง

2.บริหารกล้ามเนื้อคอบ่อย ๆ
จะช่วยให้กล้ามเนื้อคอแข็งแรง (บริหารเวลาไม่ปวด) ป้องกันการขยับเขยื้อนของกระดูกคอที่อาจไปกดทับเส้นประสาทได้ ท่าบริหารที่ง่าย ๆ ได้แก่ การเอาคางยันฝ่ามือ (ใช้ฝ่ามือดันคาง และคางกดฝ่ามือสู้กัน) และการเอามือประสานกัน กดบริเวณท้ายทอย ให้หัวก้มลงแต่เกร็งคอต้านไว้

3.ระวังอิริยาบถ
ท่านั่ง ยืน นอน ต้องไม่ให้ก้ม หรือเงยศีรษะมากไป หรืออยู่ในท่าก้ม เงย นานเกินไป เช่น ท่านั่งทำงาน นั่งก้มดูหนังสือ

4. ไม่หิ้วของหนักเกินไป
เพราะจะเกิดแรงกระชากที่กระดูกคอ ทำให้เสื่อมเร็ว


ที่มา : เอกสารเผยแพร่ความรู้ "เรื่องปวดต้นคอ" ขององค์การเภสัชกรรม


 


แผนผังเว็บไซต์ (Site Map)


Copy right © 2008 - 2010 by Thongteaw.com - All Rights Reserved
เลขทะเบียนพาณิชย์อิเล็คโทรนิคส์ 3102201494154