Custom Search
 


ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009

     “ทุกสิ่งทุกอย่างต้องมีการหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยต่างๆไม่มีสิ่งใดที่คงอยู่ตลอดไปอย่างมั่นคงเที่ยงแท้แน่นอน” เป็นคำกล่าวที่เป็นจริงโดยปราศจากข้อโต้แย้งใดๆ แม้แต่บางสิ่งซึ่งเราสังเกตเห็นว่าน่าจะหยุดนิ่ง เช่น ปากกา ,โต๊ะ ,กระดาษ ,รถยนต์ ,ฯลฯ แท้จริงแล้วก็ยังมีประจุของอิเล็กตรอนเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลามีการแลกเปลี่ยนถ่ายเทพลังงานไปยังอนุภาคอื่นๆทั้งที่พื้นผิวและภายในสิ่งของต่างๆเหล่านั้นทุกๆวินาที วิวัฒนาการของโรคและมนุษย์ก็เป็นเฉกเช่นเดียวกันดังตัวอย่างโรคใหม่ที่เพิ่งเกิดและถูกค้นพบจนเป็นข่าวเกรียวกราวเมื่อต้นปี พ.ศ. 2552 นี้  โรค“ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009” หรือ “ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่  ชนิดเอ เอช1 เอ็น1” นั่นเอง ด้วยความที่ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอม ( www.Thongteaw.com ) ของเราไม่อยากถูกกล่าวหาว่าล้าสมัย (แม้ว่าจะไม่ได้ update หัวข้อสุขภาพนี้มาน๊านนานแล้วก็ตามที) เลยคิดว่ามาพูดกันถึงเรื่องโรคที่กำลังฮอตฮิตติดลมบนนี้กันบ้างก็คงจะดี

      ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 นั้นเกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิด A/H1N1 เป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่ตัวใหม่ที่ไม่เคยพบมาก่อน เกิดจากการผสมสารพันธุกรรมของเชื้อไข้หวัดใหญ่ของคน สุกรและนก เป็นโรคที่แพร่ติดต่อระหว่างคนสู่คน เริ่มพบที่ประเทศเม็กซิโกและสหรัฐอเมริกาต่อมาได้แพร่ออกไปยังอีกหลายประเทศจนกระทั่งเข้ามาถึงประเทศไทยในที่สุด

      ผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เข้าไปนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องป่วยทุกคน กรณีผู้ที่ได้รับเชื้อมีภูมิคุ้มกันโรคแข็งแรงและเชื้อที่เข้าสู่ร่างกายมีปริมาณไม่มากนักอาจไม่แสดงอาการเจ็บป่วยใดๆเลยก็เป็นได้ เนื่องจากร่างกายมีกลไกในการกำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกายตามปกติอยู่แล้ว(กลไกกำจัดสิ่งแปลกปลอมหลัก คือ ระบบเม็ดเลือดขาวและแอนติบอดี้) แต่หากได้รับเชื้อแล้วภูมิคุ้มกันไม่สามารถต่อต้านเชื้อได้อย่างพอเพียงก็อาจเกิดอาการป่วยขึ้นได้ ซึ่งอาการป่วยนั้นจะเริ่มขึ้นหลังจากได้รับเชื้อไวรัส 1 - 3วัน น้อยรายที่นานถึง 7 วันโดยลักษณะอาการจะใกล้เคียงกันกับโรคไข้หวัดใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วไป เช่น มีไข้ ,ปวดศีรษะ ,ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ,อ่อนเพลีย ,ไอ ,เจ็บคอ อาจมีอาการเบื่ออาหาร ,คลื่นไส้ ,อาเจียนหรือท้องเสียร่วมด้วยได้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการไม่รุนแรงและสามารถหายป่วยได้โดยไม่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล(ดูคำแนะนำการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยอาการไม่รุนแรงได้ในย่อหน้าถัดไปครับ)

     ผู้ป่วยจำนวนน้อยอาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นปอดอักเสบ ซึ่งจะพบอาการไข้สูง(วัดปรอททางปากด้วยวิธีการมาตรฐานพบอุณหภูมิเท่ากับหรือสูงกว่า 38 องศาเซลเซียส) ,หายใจเร็ว ,เหนื่อยหอบ ,หายใจลำบาก และอาจเกิดภาวการณ์หายใจล้มเหลวจนกระทั่งเสียชีวิตได้(แต่อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคนี้อยู่ที่ 1% กว่าๆเท่านั้นจากจำนวนผู้ป่วยที่ตรวจพบทั้งหมดทั่วโลกและคาดว่าอัตราผู้เสียชีวิตจะลดจำนวนลงอีกจากการดูแลและป้องกันซึ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากแรกเริ่มสุดของการระบาดนั้นมีอัตราตายของผู้ป่วยอยู่ที่ 4 % แล้วลดลงมาอยู่ที่ 1% กว่าๆในขณะที่เราเขียนบทความนี้ครับ) หากมีอาการรุนแรงดังที่กล่าวแล้วข้างต้นต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที ซึ่งแพทย์จะพิจารณาให้ยาต้านไวรัสชนิดรับประทาน คือ ยา oseltamivir ตามความเหมาะสม กรณีที่ผู้ป่วยมีความจำเป็นที่จะต้องรับประทานยาต้านไวรัสการได้รับยาภายใน 2วันหลังเริ่มป่วย จะให้ผลการรักษาที่ดี

     
     สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง เช่น มีไข้ต่ำๆ(ไม่ถึง 38 องศาเซลเซียส) ,สามารถรับประทานอาหารและดื่มน้ำได้เอง อาจไปพบแพทย์ที่คลินิกหรือขอรับยาและคำแนะนำจากเภสัชกรใกล้บ้านและสามารถดูแลรักษาตนเองที่บ้านได้(ปกติการติดเชื้อไวรัสที่อาการป่วยไม่รุนแรงมากนักสามารถหายเองได้ ยกเว้น Retrovirus ในโรคเอดส์ครับ)โดยการปฏิบัติตัวดังนี้
      1. รับประทานยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ Paracetamol ,ยาละลายเสมหะ ,ยาลดน้ำมูก เป็นต้นและเช็ดตัวลดไข้เป็นระยะด้วยน้ำสะอาดไม่เย็น
      2. ดื่มน้ำสะอาดไม่เย็นมากๆ การดื่มน้ำมากๆจะช่วยให้ร่างกายสามารถถ่ายเทความร้อนออกมากับปัสสาวะและเหงื่อได้ดีทำให้ไข้ลดลงง่าย
      3. พยายามรับประทานอาหารอ่อนๆที่ร่างกายสามารถย่อยดูดซึมได้ง่ายและมีประโยชน์ให้ได้มากพอเพียง เช่น โจ๊ก ,ข้าวต้ม ,ไข่ ,ผัก ,ผลไม้ เป็นต้น หากรับประทานได้น้อยอาจต้องได้รับวิตามินเสริม
      4. นอนหลับพักผ่อนมากๆในห้องที่อากาศถ่ายเทดี(ประมาณ 7 – 9 ชั่วโมง)
      5. ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาปฏิชีวนะยกเว้นติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนซึ่งต้องรับประทานยาจนหมดตามแพทย์สั่งเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อดื้อยา

     กรณีที่ไม่แน่ใจว่าตนเองป่วยเข้าขั้นต้องสงสัยว่าจะเป็นโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และจำเป็นต้องไปพบแพทย์หรือไม่ให้พิจารณาตามเกณฑ์ซึ่งทีมงานเรานำมาสรุปไว้ให้อ่านเป็นข้อๆอีกครั้งดังต่อไปนี้
      1. มีอาการไข้สูง(วัดปรอททางปากด้วยวิธีการมาตรฐานพบอุณหภูมิเท่ากับหรือสูงกว่า 38 องศาเซลเซียส)
      2. มีลักษณะอาการอื่นๆคล้ายไข้หวัดใหญ่ทั่วไป ได้แก่ ปวดศีรษะ ,ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ,อ่อนเพลีย ,ไอ ,เจ็บคอ อาจมีอาการเบื่ออาหาร ,คลื่นไส้ ,อาเจียนหรือท้องเสียร่วมด้วยได้ (กรณีมีแค่อาการตามข้อ 2.แต่ไม่มีไข้สูง ให้ใจเย็นๆลองปฏิบัติตามคำแนะนำสำหรับผู้ป่วยอาการไม่รุนแรงข้อ 1. – 5.ดูก่อนได้ เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะหายได้เองหากปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด ,เหมาะสมและถูกต้อง)
      3. หายใจเร็ว ,หายใจลำบาก ,เหนื่อยหอบ

     การแพร่ติดต่อของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 นั้นเกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งอยู่ในเสมหะ ,น้ำมูกหรือน้ำลายของผู้ติดเชื้อ (ผู้ติดเชื้อ คือ ผู้ซึ่งมีเชื้อโรคอยู่ภายในร่างกายแล้วแต่อาจจะยังไม่แสดงอาการป่วยใดๆ ส่วนผู้ป่วย หมายถึง ผู้ติดเชื้อซึ่งแสดงอาการเจ็บป่วยออกมาให้เห็นแล้ว) เข้าไปสัมผัสกับเยื่อบุผิวของคนปกติ (บริเวณเยื่อบุผิวที่สามารถสัมผัสและรับกับเชื้อได้ง่าย เช่น เยื่อบุตา ,เยื่อบุช่องจมูก ,เยื่อบุช่องปาก เป็นต้น) ไม่ว่าจะในกรณีที่อยู่ใกล้กันภายในระยะ 1 – 3 เมตรแล้วเกิดการไอ ,จาม รดใส่กันตรงๆหรือหายใจเอาละอองฝอยเข้าไป อาจเกิดจากการได้รับเชื้อทางอ้อมผ่านทางมือหรือสิ่งของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนเชื้อ( เช่น แก้วน้ำ ,ลูกบิดประตู,โทรศัพท์ ,ผ้าเช็ดมือ เป็นต้น) โดยการนำมือหรือสิ่งของซึ่งปนเปื้อนนั้นมาสัมผัสกับเยื่อบุผิวบริเวณตา ,จมูก ,ปาก เช่น การเอานิ้วจับธนบัตรที่ปนเปื้อนแล้วนำมาเลียน้ำลายเพื่อแยกธนบัตร ,เอาปากกามาแคะอุจจาระจมูก( ขี้มูก ) หรือหยิบเอาไม้จิ้มฟันปนเปื้อนมาแคะฟัน เป็นต้น สำหรับผู้ที่มีอาการป่วยนั้นจะสามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 1 วันก่อนเริ่มมีอาการป่วยและช่วง 3 วันแรกของการป่วยจะแพร่เชื้อได้มากที่สุด ระยะแพร่เชื้อมักไม่เกิน 7 วันนับจากวันที่เริ่มป่วย

      การป้องกันไม่ให้ติดเชื้อนั้นไม่ยากลำบากหากใส่ใจแต่ก็อาจยากเย็นเหนือกว่าสิ่งใดในกรณีที่ไม่เห็นความสำคัญนะเออ!!........มาเถอะ.......มาอ่านวิธีป้องกันแบบไม่ไร้สาระกันต่อไปได้ดังนี้
      1. หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่หรือผู้ซึ่งน่าสงสัยว่าจะเป็นไข้หวัดใหญ่
      2. ไม่ใช้แก้วน้ำ ,หลอดดูดน้ำ ,ช้อนอาหาร ,ผ้าเช็ดมือ ,ผ้าเช็ดหน้าร่วมกับผู้อื่นและใช้ช้อนกลางทุกครั้งเมื่อรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น
      3. รับประทานอาหารที่ปรุงสุกและสะอาด ความร้อนจากการปรุงอาหารที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียสขึ้นไปสามารถฆ่าเชื้อโรคชนิดนี้ได้
      4. ปัจจุบันยังไม่พบรายงานการติดเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จากการรับประทานเนื้อหมูปรุงสุกใดๆ อย่างไรก็ตามเพื่อความปลอดภัยจากเชื้อโรคต่างๆ(ที่อาจไม่ใช่เพียงแค่เชื้อ A/H1N1เท่านั้น)ไม่ควรนำหมูที่ป่วยหรือตายโดยไม่ทราบสาเหตุมาประกอบอาหาร
      5. หากต้องดูแลผู้ป่วยหรือต้องเข้าไปอยู่ในพื้นที่ซึ่งเสี่ยงต่อการระบาดของโรคควรสวมหน้ากากอนามัย
      6. หมั่นล้างมือบ่อยๆด้วยน้ำและสบู่ หรือ Alcohol gel ทั้งก่อนและหลังการดูแลผู้ป่วย ,เข้าไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ,รับประทานอาหาร ,แคะขยี้ตา ,แคะขี้มูกขี้ฟัน ,ฯลฯ สรุปคือ ถ้าคิดว่ามือสกปรกหรือปนเปื้อนสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัยก็พยายามล้างมือซะล่ะครับ(แต่ไม่ต้องสติแตก....ล้างจนมือเปื่อยนะครับ)
      7. รักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์รวมทั้งไข่ ,นม ,ผักและผลไม้ ,ดื่มน้ำสะอาดและนอนหลับพักผ่อนให้พอเพียง ,ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ,หลีกเลี่ยงบุหรี่และสุรา ,ผ่อนคลายความเครียดด้วยการศึกษาธรรมะให้เข้าในความเป็นจริงตามปกติของชีวิต(ความเครียดมีผลให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนบางชนิดซึ่งมีฤทธิ์ในการกดภูมิต้านทาน ,ร่างกายซ่อมแซมตนเองได้ลำบากขึ้น,ทำให้เส้นเลือดหดตัว ,ระดับน้ำตาลในเลือดขึ้นสูง ,ฯลฯ) ผู้ซึ่งมีสุขภาพแข็งแรงจะติดโรคนี้ได้ยากกว่าแม้จะได้รับเชื้อเข้าไปก็ตาม

     สำหรับผู้ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการเจ็บป่วยที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 นั้นได้แก่

     1. เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี
     2. ผู้สูงวัยอายุมากกว่า 60 ปี
     3. ผู้มีภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน( ค่าดัชนีมวลกาย > 24.99 )
     4. สตรีมีครรภ์
     5. ผู้ป่วยมีโรคประจำตัวเรื้อรัง
     6. ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ
     7. ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพอื่นๆ เช่น ผู้ซึ่งสูบบุหรี่เป็นประจำ(สูบบุหรี่ตั้งแต่วันละ 5 มวนขึ้นไป) ,ผู้ซึ่งดื่มสุราเป็นประจำ(ดื่มสุรามากกว่าวันละ 1 ขวดกระทิงแดง) ,ผู้ซึ่งดื่มกาแฟเป็นประจำ(มากกว่าประมาณวันละ 2 ช้อนชา) ,ผู้ซึ่งนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ(นอนน้อยกว่าวันละ 7 ชม.) ,ผู้ซึ่งมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ(ค่าดัชนีมวลกาย < 20 ) เป็นต้น

     หากตรวจสอบแล้วพบว่าคุณอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 แล้วล่ะก็ควรจะดูแลตัวเองตามคำแนะนำในการป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัดและลด ละ เลิกพฤติกรรมที่ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพดังหัวข้อข้างต้น นอกจากจะช่วยให้คุณไม่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จนมีอาการป่วยอย่างรุนแรงได้แล้วยังช่วยป้องกันไม่ให้คุณติดเชื้อโรคชนิดอื่นๆได้โดยง่ายอีกด้วย

      ในกรณีที่พบว่าตนเองมีอาการป่วยด้วยอาการไอ ,จาม ,มีน้ำมูก ,เจ็บคอ ,ไข้ การป้องกันตนเองไม่ให้แพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นก็นับเป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกัน (ยกเว้นคุณเป็นคนประเภทเห็นแก่ตัวที่ยากเกินจะเยียวยาซึ่งไม่สนใจว่าคนอื่นจะต้องป่วยเพราะได้รับเชื้อจากคุณหรือไม่ การป้องกันการแพร่เชื้อจากตนเองไปสู่ผู้อื่นอาจไม่ใช่เรื่องสำคัญสำหรับคุณ) เพราะนอกจากจะสามารถลดจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อได้แล้วยังช่วยลดโอกาสการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสชนิดนี้อีกด้วย (การกลายพันธุ์อาจทำให้เชื้อมีความรุนแรงในการก่อโรคมากกว่าเดิม) ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้คือ

     1 .สวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่กับผู้อื่น หรือใช้ทิชชูปิดจมูกปากทุกครั้งที่ไอ ,จาม ทิ้งทิชชูลงในถังขยะที่มีฝาปิดแล้วล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่หรือ Alcohol gel
     2. พยายามหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดคลุกคลีกับบุคคลอื่นๆ
     3. หากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ควรลาหยุดงานหรือหยุดเรียนเป็นเวลา 3 – 7 วันซึ่งจะช่วยลดการแพร่ระบาดได้มาก

     สุดท้ายนี้หวังว่าบทความในหัวข้อสุขภาพของเราในครั้งนี้จะมีประโยชน์ต่อท่านผู้มีอุปการะคุณทุกท่านบ้างไม่มากก็น้อยและขอส่งความปรารถนาดีจากเราชาวทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมให้ผู้อ่านทุกๆท่านอยู่รักษาตัวรอดและปลอดภัยภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโรค/โลกนะคร้าบบบบบบ

หมายเหตุ :ในครั้งนี้ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอม(www.Thongteaw.com)ได้รับความอนุเคราะห์ข้อมูลโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่  ชนิดเอ เอช1 เอ็น1จากหน่วยป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ จึงขออนุญาติเรียนขอบคุณอีกครั้งผ่านทาง website ของเราครับ





 


แผนผังเว็บไซต์ (Site Map)


Copy right © 2008 - 2010 by Thongteaw.com - All Rights Reserved
เลขทะเบียนพาณิชย์อิเล็คโทรนิคส์ 3102201494154