Custom Search
 



พิษจากแมลง

     

     การโดนแมลงสัตว์กัดต่อยเป็นเรื่องธรรมดาซึ่งอยู่คู่กับการไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวป่า ,ภูเขา ,ทะเล ,แม่น้ำ ,ฯลฯ แต่เรื่องราวที่ดูเหมือนปกติธรรมดานี้อาจจะก่อให้เกิดอันตรายแบบไม่ธรรมดาในบุคคลผู้ซึ่งมีภาวะแพ้ต่อสารพิษจากแมลงต่าง ๆ ได้ ในครั้งนี้ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอม (www.thongteaw.com) จึงจะขอนำเสนอบทความซึ่งเกี่ยวข้องกับพิษจากแมลงให้ทุก ๆท่านได้รับทราบถึงอันตราย ,วิธีการปฐมพยาบาล รวมถึงการป้องกันตนเองจากการถูกแมลงมีพิษต่าง ๆกัด ต่อย      โดยเนื้อหาจะเน้นหนักเฉพาะในกลุ่มของแมลงสำคัญที่กัดหรือต่อยแล้วทำให้เกิดอาการรุนแรงเป็นหลักเท่านั้น แมลงสำคัญที่กัดหรือต่อยแล้วทำให้เกิดอาการรุนแรง ได้แก่ ต่อ แตน ผึ้ง มดตะนอย มดแดงไฟ(มดคันไฟ) แมลงดังกล่าวมีเหล็กในอยู่ที่ส่วนปลายของลำตัว ลักษณะคล้ายปลายเข็มฉีดยา เมื่อไม่ใช้จะหดเก็บอยู่ภายในช่องท้อง ถ้าต้องการใช้จะยืดออกมาแทงได้ทันที แมลงทุกชนิดข้างต้นมีต่อมน้ำพิษ เมื่อต่อยศัตรูสารจากต่อมน้ำพิษดังกล่าวจะถูกปล่อยออกไปยังเหล็กในไปสู่ศัตรู
     “ต่อ”และ“แตน” มีลักษณะคล้ายกัน แตกต่างกันที่ขนาดลำตัว “ต่อ” มีขนาดลำตัวยาว 1.5 ซม.ขึ้นไป ส่วน “แตน” มีขนาดต่ำกว่า 1.5 ซม. แมลงทั้งสองชนิดสามารถต่อยศัตรูได้หลายครั้งโดยที่ตัวเองไม่ตาย
     “ผึ้ง” ผึ้งงานและผึ้งนางพญาเท่านั้นที่มีเหล็กใน โดย “ผึ้งงาน” จะมีเหล็กในที่มีลักษณะเป็นเงี่ยง มีท่อน้ำพิษอยู่ตรงกลางต่อกับถุงเก็บน้ำพิษ เมื่อต่อยศัตรูแล้วเงี่ยงของเหล็กในจะติดอยู่ในเนื้อของศัตรูไม่สามารถดึงเหล็กในกับคืนเข้ามาในช่องท้องได้อีก หลังจากนั้นเมื่อผึ้งงานดึงตัวออกจากศัตรูจะทำให้ส่วนปลายช่องท้องของผึ้งงานแตก ต่อมาผึ้งงานตัวนั้นก็จะตาย ผึ้งงานจึงต่อยได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น แตกต่างจาก “ผึ้งนางพญา” ซึ่งมีเหล็กในแบบไม่มีเงี่ยงหลังต่อยแล้วสามารถดึงเหล็กในกลับมาเก็บไว้ในช่องท้องได้ดังเดิม ทำให้ผึ้งนางสามารถต่อยได้หลายครั้ง
     “มดตะนอย” และ “มดแดงไฟ” ส่วนปลายสุดของท้องมีเหล็กในไว้สำหรับต่อยศัตรูเช่นเดียวกับต่อ ,แตนและผึ้ง หลาย ๆคนอาจจะคิดว่ามดเหล่านี้ใช้วิธีการกัดในการต่อสู้กับศัตรู แต่ในความเป็นจริงก็คือ มันจะใช้ปากในการจับ/ยึดตัวศัตรูเอาไว้แล้วจึงต่อยโดยใช้เหล็กในที่ส่วนปลายของท้องพร้อม ๆกับปล่อยน้ำพิษเข้าไปในปากแผล แตกต่างกับมดทั่ว ๆไปที่จะใช้วิธีการต่อสู้กับศัตรูโดยการกัด มดตะนอยและมดคันไฟสามารถต่อยศัตรูได้หลายครั้งเช่นเดียวกับต่อและแตน
     น้ำพิษจากแมลงเหล่านี้ประกอบด้วยสารหลายอย่างแล้วแต่ชนิดของแมลง ส่วนใหญ่จะเป็นสารประกอบจำพวกโปรตีน สารเหล่านี้ก่อให้เกิดผลได้หลายชนิด เช่น ทำลายส่วนประกอบของผนังเซลล์ ,ทำให้เซลล์เสียหน้าที่ ,ทำให้เม็ดเลือดแดงแตก ,ทำให้สภาพการซึมได้ของหลอดเลือดเพิ่มขึ้น เป็นต้น ภายหลังจากถูกแมลงเหล่านี้ต่อยผู้ป่วยอาจมีอาการเพียงเล็กน้อย หรืออาการรุนแรงไปจนกระทั่งเสียชีวิตได้ภายในเวลาไม่กี่นาที โดยสามารถจำแนกปฏิกิริยาหลังถูกแมลงต่อยได้เป็น 3 ประเภท คือ

     1.ปฏิกิริยาอะนาฟัยแลกซิส (Anaphylaxis) เป็นปฏิกิริยาที่รุนแรงที่สุด ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องทันท่วงที ส่วนใหญ่เกิดภายใน 15 นาทีหลังถูกต่อยหรืออาจเกิดช้ากว่านั้นก็ได้ ยิ่งปฏิกิริยาเกิดเร็วอาการยิ่งรุนแรง ผู้ป่วยจะมีผื่นลมพิษขึ้นทั่วไป ,ผิวหนังแดง คัน ,มีการบวมที่หน้า ตา ปาก หรืออาจบวมทั้งตัว ,แน่นหน้าอก ,หายใจลำบาก ,พูดลำบาก เนื่องจากมีการบวมของทางเดินหายใจและมีสิ่งคัดหลั่งออกมามาก บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ,ปวดท้อง ,ท้องเสีย แต่อาการทางระบบทางเดินอาหารนี้พบได้ไม่บ่อย ผู้ป่วยซึ่งอาการหนักมาก ๆจะมีความดันโลหิตต่ำ ช็อกและเสียชีวิตได้ ปฏิกิริยาดังกล่าวข้างต้นอาจจะเกิดขึ้นในผู้ป่วยซึ่งเคยมีประวัติการแพ้แมลงหรือไม่เคยมีประวัติเลยก็ได้ และอาจเกิดขึ้นตั้งแต่ครั้งแรกที่ถูกต่อยหรือเกิดขึ้นในครั้งหลัง ๆก็ได้

      2.ปฏิกิริยาชนิดผิดธรรมดา (Unusual reaction) เป็นปฏิกิริยาซึ่งไม่ทราบการเกิดกลไกที่แน่นอน เกิดหลังจากถูกแมลงต่อยประมาณตั้งแต่ 6 ชม.ไปจนถึง 10 – 14 วัน อาจเกิดขึ้นร่วมกับปฏิกิริยาอะนาฟัยแลกซิสก็ได้ อาการที่พบอาจแตกต่างกันไปได้หลายแบบตามระบบต่าง ๆของร่างกายดังนี้
          - ระบบเลือด มีการแตกของเม็ดเลือดแดงในหลอดเลือด ,มีภาวะลิ่มเลือดแพร่กระจายในหลอดเลือด ,มีการอุดตันของหลอดเลือดแดงเลี้ยงหัวใจ ,มีเลือดออกและเลือดคั่งทั่วไป
          - ระบบกล้ามเนื้อ ทำให้เจ็บปวดตามกล้ามเนื้อ ,เป็นตะคริว ,มีการตายของเซลล์กล้ามเนื้อ และก่อให้เกิดภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง ,มีสารประกอบโปรตีนของกล้ามเนื้อรั่วออกมาในปัสสาวะ
          - ระบบทางเดินปัสสาวะ ปัสสาวะมีสีแดงหรือสีน้ำตาลคล้ายน้ำปลา เนื่องจากมีสารประกอบโปรตีนในเม็ดเลือดแดง/สารประกอบโปรตีนของกล้ามเนื้อรั่วออกมาในปัสสาวะ ,เกิดภาวะไตวายหรือกลุ่มอาการ nephritic
          - ระบบทางเดินหายใน เกิดก้อนลิ่มเลือดอุดตันเส้นเลือดปอด ,มีเลือดออกในปอด ,ถุงลมปอดแฟบ ,บางรายมีถุงลมปอดโป่งพอง
          - ระบบประสาท มีเส้นประสาทอักเสบ ,สมองอักเสบ ,การรู้สึกตัวเลวลงจนหมดสติ ,เนื้อสมองและไข้สันหลังตาย
          - ภาวะ serum sickness มีไข้ ,ต่อมน้ำเหลืองโต ,ปวดศีรษะ ,ปวดข้อ ,มีลมพิษ

     3.ปฏิกิริยาเฉพาะที่ (Local reaction) ในผู้ป่วยที่ไม่แพ้แมลงหลังถูกต่อยจะมีอาการปวด บวม แดงบริเวณที่ถูกต่อย รอยบวมแดงมีขนาดไม่เกิน 5 ซม. อาการมักจะเกิดภายหลังถูกต่อยเป็นนาทีและหายไปภายในเวลา 24 ชม. ผู้ป่วยบางรายอาจมีปฏิกิริยาเฉพาะที่เป็นบริเวณกว้างได้ เช่น ถูกต่อยที่หน้าผากมีการบวมลามไปทั่วใบหน้า หรือถูกต่อยที่นิ้วมือมีการบวมไปถึงข้อศอกข้างนั้น ส่วนใหญ่รอยบวม แดงจะมีขนาดเกิน 5 ซม.และอยู่นานเกินกว่า 24 ชม.

     การปฐมพยาบาล : ในผู้ป่วยซึ่งมีปฏิกิริยารุนแรง “แบบอะนาฟัยแลกซิส” ให้รีบนำผู้ป่วยส่งสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุดทันที ระหว่างนั้นให้ผู้ป่วยนอนราบหงายหน้า (กดหน้าผากไปด้านบน เชิดคางขึ้น) ถ้าแมลงต่อยบริเวณแขนหรือขาให้ใช้สาย tourniquet (หากไม่มีอาจใช้สายหนังหรือแถบผ้า) รัดเหนือบริเวณที่ถูกต่อยให้แน่นพอจะป้องกันการไหลของเลือดดำกลับสู่หัวใจ รัดไว้ 3 นาที ปล่อยออก 1 นาที ในกรณีที่มียาแก้แพ้ในกลุ่มออกฤทธิ์ต้านสารฮิสตามีน (Antihistamine) เช่น Chlorpheniramine และผู้ป่วยยังคงรู้สติดี ยังไม่มีอาการหายใจลำบาก ,พูดลำบาก ,คลื่นไส้ ,อาเจียน (ผู้ป่วยอาจเพิ่งมีอาการเพียงแค่ลมพิษขึ้น) ให้รีบรับประทานยาแก้แพ้ดังกล่าว แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยเกิดอาการหายใจลำบาก ,พูดลำบาก ,คลื่นไส้ ,อาเจียนแล้วไม่แนะนำให้รับประทานยาหรือสารน้ำใด ๆทางปาก เนื่องจากอาจทำให้ผู้ป่วยสำลักและอาการเลวร้ายลงกว่าเดิมได้ ไม่ว่าผู้ป่วยจะเกิดปฏิกิริยารุนแรงแบบอะนาฟัยแลกซิส หรือมีอาการเพียงแค่ปฏิกิริยาเฉพาะที่ก็ตาม หากถูก “ผึ้งงาน” ต่อย ให้สังเกตว่าจะมีเหล็กในดำ ๆ ติดอยู่บริเวณรอยแผลจำเป็นต้องนำเหล็กในออกโดยการใช้เทปเหนียวอย่างใสปิดตรงบริเวณที่ถูกต่อยแล้วดึงออกหรืออาจใช้โฟมโกนหนวดป้ายแล้วจึงใช้มีดโกนขูดเหล็กในออกก็ได้ หากไม่นำเหล็กในออกเหล็กในจะค่อย ๆฝังลึกลงไปในเนื้อและปล่อยพิษออกได้อีกระยะหนึ่ง หลังจากนำเหล็กในออกแล้วให้ประคบบริเวณแผลด้วยความเย็น กรณีที่ถูกแมลงอื่นซึ่งไม่ใช่ผึ้งงานต่อยให้ประคบเย็นบริเวณแผลได้เลย เนื่องจากจะไม่มีเหล็กในฝังค้างติดอยู่ในบาดแผล ในผู้ป่วยซึ่งมีเพียงอาการปวด บวม แดงจากปฏิกิริยาเฉพาะที่ สามารถรับประทานยาต้านฮิสตามีนและยาแก้ปวดตามอาการได้ หากรอยแผลที่ถูกต่อยยังคงบวม แดง ขยายขนาดขึ้น ปวดมาก กลายเป็นตุ่มหนอง หรือผู้ป่วยเกิดอาการผิดปกติจาก “ปฏิกิริยาชนิดผิดธรรมดา”แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาเพิ่มเติมต่อไป (อาจจำเป็นต้องรับประทานยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ ยาปฏิชีวนะ หรือให้การรักษา “ปฏิกิริยาชนิดผิดธรรมดา” ตามระบบภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์ต่อไปครับ)


     การป้องกัน : นักท่องเที่ยวสามารถป้องกันตนเองจากการถูกแมลงมีพิษกัดต่อยได้ตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

          1.หลีกเลี่ยงการเดินทางโดยเท้าเปล่าออกนอกสถานที่พัก
         
          2.
หลีกเลี่ยงการแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีสันสดใสโดยเฉพาะเสื้อผ้าที่มีลวดลายเป็นดอกไม้ รวมไปถึงการใส่น้ำหอมหรือโคโลญ เพราะจะดึงดูดแมลง

          3.หากจะต้องเดินทางผ่านสถานที่รกชัฏหรือเดินทางเข้าป่า ควรแต่งกายให้รัดกุมโดยการสวมใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ใส่ถุงเท้า รองเท้าและอาจจะสวมถุงมือด้วย

          4.ในกรณีที่นำอาหารติดตัวไปรับประทานระหว่างการเดินทางท่องเที่ยว อาหารดังกล่าวควรถูกเก็บรักษาไว้ในภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์ซึ่งปิดมิดชิด

          5.ควรปิดฝาถังขยะโดยรอบที่พักให้มิดชิด กรณีทิ้งขยะใส่ถุงขยะควรผูกปากถุงขยะให้เรียบร้อย เนื่องจากแมลงบางชนิดชอบผลไม้เน่า ๆและขยะ

          6.ควรเตรียมยาแก้แพ้ ยาแก้ปวดและยาสามัญอื่น ๆติดตัวไประหว่างการเดินทางท่องเที่ยวทุกครั้ง

          
7.ผู้ซึ่งเคยมีประวัติการแพ้อย่างรุนแรงควรมีเหรียญ ป้ายห้อยคอ หรือสวมสร้อยข้อมือที่มีป้ายบอกรายละเอียดการแพ้แมลงไว้ด้วยเสมอยามฉุกเฉิน ผู้อื่นจะได้สามารถช่วยเหลือได้ทันท่วงที นอกจากนั้นอาจจำเป็นต้องพกกระเป๋าเครื่องมือฉุกเฉินซึ่งภายในบรรจุด้วยยา epinephrine พร้อมกระบอกฉีดยาหรือปากกาฉีดยาสำเร็จรูปแบบที่สามารถฉีดได้ด้วยตัวเอง (เช่น Epi – pen) ไว้ด้วย


            พออ่านมาถึงตรงนี้หลาย ๆคนคงจะเห็นได้ว่าเจ้าแมลงตัวจ้อยกระจิริดที่เราพบเห็นกันได้อยู่ทั่ว ๆไปนั้น อาจมีพิษสงร้ายแรงเกินกว่าจะประเมินได้จากขนาดของตัวหลายเท่าและคนปกติส่วนใหญ่คงไม่อยากถูกเจ้าแมลงมีพิษเหล่านี้ต่อยเป็นแน่แท้ เพราะฉะนั้นเวลาที่ทุก ๆท่านจะเดินทางไปท่องเที่ยวก็ควรเตรียมตัวให้พร้อม ระมัดระวัง และอย่าประมาทเลินเล่อจนเป็นเหตุให้วันหยุดพักผ่อนอันน่ารื่นรมย์ของคุณต้องกลายเป็นวันลาป่วยอันสุดแสนเจ็บปวดชอกช้ำไปซะล่ะครับ

     ขอขอบคุณ : ข้อมูลทางวิชาการจากหนังสือ “เวชศาสตร์ฉุกเฉิน” ของวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ,หนังสือ “ภาวะฉุกเฉินทางอายุรศาสตร์” ของภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และ Wikipedia

 






 


แผนผังเว็บไซต์ (Site Map)


Copy right © 2008 - 2010 by Thongteaw.com - All Rights Reserved
เลขทะเบียนพาณิชย์อิเล็คโทรนิคส์ 3102201494154