Custom Search
 


งูกัด


     อุบัติเหตุสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา บางครั้งเป็นเหตุสุดวิสัยที่เราไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่ามันจะเกิด หรือไม่คิดเลยว่าเหตุนั้นจะเกิดขึ้นกับตัวเรา ดังนั้นการดำเนินชีวิตในแต่ละวันของเรานั้นควรที่จะดำรงตนตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ที่กล่าวเยิ่นเย้อมาในตอนต้นก็เพื่อที่จะบอกว่าเหล่าผู้คนที่รักการท่องเที่ยวบางครั้งการเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ ก็มีโอกาสที่จะเกิดเหตุที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้ แต่หากเรามีการเตรียมพร้อม อย่างน้อยก็คงจะช่วยผ่อนหนักเป็นเบาได้ ดังนั้นในวันนี้เราจะมาพูดคุยถึงเรื่องราวที่อาจจะพบเจอได้ในระหว่างการเดินทางหรือแม้กระทั่งมาให้พบเจอถึงที่บ้านเลยก็ได้ เพื่อที่จะได้เตรียมตัวและมีสติเมื่อพบกับมัน “งู”

      งู ในโลกนี้มีมากมายกว่าหมื่นชนิด มีทั้งชนิดที่มีพิษ และไม่มีพิษ ชนิดมีพิษมีอยู่ประมาณ 500 กว่าชนิด ที่พบได้บ่อยประเทศไทย (เช่น งูจงอาง งูเห่า งูแมวเซา งูกะปะ งูสามเหลี่ยม งูทะเล และงูเขียวหางไหม้) ซึ่งพิษของเจ้างูเหล่านี้ บางชนิดออกฤทธิ์ต่อระบบเลือด บางชนิดออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทหรือกล้ามเนื้อ อาการของพิษงูอาจปรากฏอาการภายใน 15 – 30 นาที หรือนานถึงหลายชั่วโมงจึงปรากฏอาการก็มี ดังนั้นสิ่งที่ทุกท่านควรจะตระหนัก คือ เมื่อถูกงูกัดแล้วจะปฐมพยาบาลอย่างไรให้ถูกต้อง และรีบส่งต่อผู้ป่วยให้ถึงมือแพทย์โดยเร็วที่สุด

      สิ่งที่ควรจะทราบ คือ ต้องรู้ก่อนว่างูที่กัดเป็นงูพิษหรือไม่ สังเกตได้จากรอยกัดหากเป็นงูพิษจะพบรูเขี้ยวอาจจะเป็นรูเดียวหรือสองรูก็ได้ บางครั้งจะมีรอยฟันด้วย หากไม่แน่ใจให้ปฐมพยาบาลแบบคิดว่างูที่กัดมีพิษไว้ก่อน เพราะงูบางชนิด (เช่น งูทะเล) รูเขี้ยวไม่ค่อยชัดเจน และถ้าหากทราบชนิดของงู (สังเกตและจดจำรายละเอียด) หรือมีงูที่กัดมาด้วยก็จะเป็นประโยชน์มากขึ้น (แต่ถ้าไม่สามารถทำได้ก็ไม่เป็นไร เพราะเดี๋ยวจะโดนกัดไปอีกคน)



     อาการและอาการแสดง ของผู้ป่วยที่ได้รับพิษงู มีอยู่ 3 ประเภท ขึ้นอยู่กับว่าถูกงูอะไรกัด

     1.พิษต่อระบบประสาท (Neurotoxin) จากงูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยม งูทับสมิงคลา อาการจะเริ่มจากแขน ขา ไม่ค่อยมีแรง หนังตาตกลืมตาไม่ขึ้น ง่วงนอน ถ้าเป็นมากขึ้นจะหมดแรง ลิ้นเกร็ง พูดลิ้นคับปาก น้ำลายฟูมปาก เนื่องจากกล้ามเนื้อการกลืนเป็นอัมพาต หลังจากนั้นทุกส่วนเป็นอัมพาต หยุดหายใจแล้วก็ตาย
     2.พิษต่อระบบการแข็งตัวของเลือด (Hematotoxin) จากงูเขียวหางไหม้ งูแมวเซา และงูกะปะ อาการจะเริ่มจากปวดแผลมาก มีเลือดซึมออกจากแผล เลือดออกตามอวัยวะต่าง ๆ เช่นเลือดกำเดา เลือดออกตามไรฟัน ไอ อาเจียนและถ่ายเป็นเลือด ถ้าเลือดออกมากเกิดภาวะระบบไหลเวียนล้มเหลว ตายเช่นกัน
     3.พิษต่อกล้ามเนื้อ (Myotoxin) จากงูทะเล อาการเริ่มจากปวดกล้ามเนื้อ จากนั้นปัสสาวะเปลี่ยนเป็นสีแดงคล้ำจากกล้ามเนื้อถูกทำลาย ไตวาย ระบบหายใจล้มเหลว แล้วสุดท้ายก็ตายเช่นกัน

     การปฐมพยาบาลก่อนนำส่งโรงพยาบาล คือ
     1.ตั้งสติให้ได้ก่อนอย่าตื่นเต้น หรือลนลาน พยายามทำใจให้สงบเพราะการตื่นเต้นตกใจจะทำให้เลือดสูบฉีดได้ดีกว่าปกติพิษจะกระจายเร็วขึ้น
     2.ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด หรือน้ำประปา (ไม่ควรใช้เหล้า ยาสีฟัน  หรือขี้เถ้า)
     3.บีบเลือดบริเวณบาดแผลออกเท่าที่จะทำได้ ไม่ควรใช้ปากดูดเลือด หรือใช้ของมีคมเปิดปากแผล ถ้าต้องการรัดด้วยผ้า เชือก หรือสายยางเหนือบริเวณที่ถูกกัด ห้ามรัดแน่นจนเลือดไม่เดิน (เพราะเนื้อเยื่อด้านล่างบริเวณที่รัดจะขาดเลือดและเน่าตาย) ให้รัดแน่นพอที่สามารถสอดนิ้วมือเข้าได้ 1 นิ้วมือ โดยรัดทั้งเหนือและใต้แผลประมาณ 3 นิ้วมือ (ประมาณ 3 – 5 ซม.)
     4.รีบพาไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด โดยขณะเคลื่อนย้ายให้บริเวณที่กัดอยู่ต่ำกว่าระดับหัวใจ
ปัจจุบันมีการบริการการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 ให้โทรขอความช่วยเหลือ แต่ระหว่างนั้นควรปฐมพยาบาลเบื้องต้นไปก่อน

     เมื่อถูกงูกัดอะไรบ้างที่เราไม่ควรทำ
     1. ในคนที่มีความดันเลือดสูงขี้ตกใจกลัว และกระวนกระวาย มักจะมีอาการเร็วและมาก ฟื้นตัวจากการช่วยเหลือแบบปฐมพยาบาลได้น้อย ดังนั้นไม่ควรตกใจหรือตื่นเต้น
     2. อย่าให้ดื่มเหล้า หรือยาประเภทมีเหล้าเจือปน เพราะจะเสริมฤทธิ์ของพิษงู
     3. ไม่ใส่ยาอะไรลงไปที่แผล นอกจากยาฆ่าเชื้อเพื่อทำความสะอาดแผล เพราะไม่เกิดประโยชน์ แต่จะทำให้เจ็บปวดมากขึ้น
     4. ห้ามใช้ยาประเภทมอร์ฟีน เพราะจะทำให้การหายใจเป็นอัมพาตเร็วขึ้น
     5. อย่าตีงูด้วยความโกรธแค้น เพราะจะทำให้ดูไม่รู้ว่าเป็นงูชนิดใด
     6. ไม่ควรใช้มือง้างปากงูเพื่อดูเขี้ยวแม้มันตายแล้ว เพราะอาจถูกงูงับ และเขี้ยวมันยังสามารถปล่อยพิษเข้าสู่ร่างกายอีกได้ แม้จะตายแล้ว
     7. ไม่ควรจับงูด้วยมือเปล่า ไม่ว่าในกรณีใดๆ

     ข้อควรรู้เมื่ออยู่ในท้องถิ่นที่มีงูชุกชุม
     1. ไม่ควรล้วงมือเข้าไปตามซอกหิน หรือใต้แผ่นไม้ในโพรงไม้เวลาตอนเช้างูมักจะชอบมานอนผึ่งแดดใต้ซอกหิน
     2. ควรใส่รองเท้าหนังหุ้มข้อเวลาเดินเสมอ
     3. เวลาจะนั่งตามโคนไม้ หรือตามขอนไม้ หรือบริเวณที่ชื้นเย็น โปรดสังเกตให้ทั่วเสียก่อนว่าไม่มีงูอยู่
     4. ไม่ควรกางกระโจมนอนใกล้กองหิน หรือกองไม้ที่น่าจะมีงูอาศัยอยู่
     5. ไม่ควรนอนกับพื้นดิน ถ้าสามารถทำยกพื้น เพื่อเป็นที่นอนได้ก็ให้ทำเสีย
     6. ถ้าต้องการพลิกขอนไม้หรือแผ่นหิน ควรงัดแผ่นหินหรือไม้เข้าหาตัว เพราะถ้ามีงูข้างใต้แผ่นหินและแผ่นไม้จะเป็นโล่บังไม่ให้ฉกเราได้
     7. ควรเดินให้ห่างจากซอกหินพอสมควร เพราถ้ามีงูแอบซ่อนอยู่จะได้ไม่สามารถฉกเราได้
     8.ไม่ควรเดินคนเดียว เพราะถ้าเวลาเราถูกงูกัดจะได้มีผู้ช่วยทำการปฐมพยาบาลได้สะดวกและดีกว่าทำเอง
     9. ควรใส่เสื้อผ้าและรองเท้าที่งูกัดไม่เข้าหรือกัดได้ลำบาก
     10. งูพิษที่ตายแล้ว เวลาจะจับต้องควรระวัง เพรางูอาจยังมีปฏิกิริยาสะท้อนหรือรีเฟล็กซ์ และอาจปล่อยพิษใส่บาดแผลได้ แม้ไม่ถึงตายก็ทำให้ลำบากได้มาก
     11. ถ้าเราไม่มีความรู้เรื่องงูพอสมควร อย่าพยายามจับงูเป็นๆ ด้วยมือเปล่า


      ขอขอบคุณข้อมูลดีดีจาก
      : รศ.นพ.เกษียร ภังคานนท์ บทความเรื่อง “งูกัด” จากนิตยสารหมอชาวบ้าน เล่ม 6 (10/2522)
      : นพ.ธเนศ พัวพรพงษ์ บทความเรื่อง “ทำอย่างไร ? เมื่อถูกงูกัด” จาก www.thaiclinic.com


  





 


แผนผังเว็บไซต์ (Site Map)


Copy right © Since 2008 by Thongteaw.com - All Rights Reserved
เลขทะเบียนพาณิชย์อิเล็คโทรนิคส์ 3102201494154