Custom Search
 


เรือหลวงจักรีนฤเบศร-เรือหลวงสิมิลัน-จุกเสม็ด อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี



     ชลบุรี” เป็นจังหวัดซึ่งรวบรวมแหล่งท่องเที่ยวระดับสุดยอดของประเทศไทยเอาไว้หลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น “หาดพัทยา” ชายหาดซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ชาวต่างชาติ , “อัลคาซ่าร์” คณะคาบาเร่ต์สาวประเภท 2 ระดับตำนานของเมืองไทย , “เกาะสีชัง” สถานที่ตั้งของพระราชวังบนเกาะกลางทะเลแห่งแรกของสยามประเทศ , “ปราสาทสัจธรรม” ปราสาทไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก , ฯลฯ และในครั้งนี้พวกเราทีมงานท่องเที่ยวดอทคอม (www.thongteaw.com) ก็จะขออาสาพาคุณผู้อ่านทุกๆ ท่านไปทำความรู้จักกับ “เรือหลวงจักรีนฤเบศร” สุดยอดแหล่งท่องเที่ยวของประเทศไทยอีกแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรีที่หลายๆ คนอาจจะไม่เคยรู้จัก หรืออาจมองข้ามไปเพราะไม่เคยได้ทราบถึงรายละเอียดทางประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของเรือหลวงลำนี้


เรือหลวงจักรีนฤเบศร-จุกเสม็ด-สัตหีบ-35 เรือหลวงจักรีนฤเบศร-จุกเสม็ด-สัตหีบ-30 เรือหลวงจักรีนฤเบศร-จุกเสม็ด-สัตหีบ-29 เรือหลวงจักรีนฤเบศร-จุกเสม็ด-สัตหีบ-73

มุมมองต่าง ๆ บนดาดฟ้า "เรือหลวงจักรีนฤเบศร"


เรือหลวงจักรีนฤเบศร-จุกเสม็ด-สัตหีบ-64 เรือหลวงจักรีนฤเบศร-จุกเสม็ด-สัตหีบ-36 เรือหลวงจักรีนฤเบศร-จุกเสม็ด-สัตหีบ-45 เรือหลวงจักรีนฤเบศร-จุกเสม็ด-สัตหีบ-24

...............ประวัติศาสตร์ได้จารึกไว้ว่า.....นี่คือ...............
เรือบรรทุกอากาศยานลำแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้



     เรือหลวงจักรีนฤเบศร เรือบรรทุกอากาศยานลำแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

     เรือหลวงจักรีนฤเบศร” เป็นเรือรบหลวงซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามให้ โดยคำว่า “จักรีนฤเบศร” นั้นมีความหมายว่า “ผู้เป็นใหญ่แห่งราชวงศ์จักรี

     แนวความคิดในการว่าจ้างสร้างเรือหลวงจักรีนฤเบศรได้เริ่มต้นขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2532 หลังจาก “พายุใต้ฝุ่นเกย์” ได้เข้าพัดถล่มอ่าวไทยบริเวณจังหวัดชุมพร กองทัพเรือซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่ค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยยังไม่มีเรือขนาดใหญ่พอจะทนทานต่อสภาพคลื่นลมของท้องทะเลในขณะที่เกิดพายุไต้ฝุ่นได้ ทำให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่บนแท่นขุดเจาะก๊าซธรรมชาติและชาวประมงเป็นไปด้วยความยากลำบากและไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ประกอบกับเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศไทยที่ได้ขยายออกไปถึง 200 ไมล์ทะเล กองทัพเรือจึงเล็งเห็นว่าควรจัดซื้อจัดสร้างเรือขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อใช้ในภารกิจการกู้ภัยและภารกิจการปกป้องรักษาอธิปไตยของประเทศชาติ จนท้ายที่สุดคณะรัฐมนตรีในยุคสมัยนั้นก็ได้มีมติอนุมัติให้มีการว่าจ้างสร้างเรือบรรทุกอากาศยานในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาลเป็นจำนวน 1 ลำ ในวงเงิน 7,100 ล้านบาท เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2535



เรือหลวงจักรีนฤเบศร-จุกเสม็ด-สัตหีบ-3


"เรือหลวงจักรีนฤเบศร" ความภาคภูมิใจของราชนาวีไทย




     
เรือหลวงจักรีนฤเบศรต่อขึ้นที่อู่ต่อเรือบาซาน เมืองเฟร์รอล ประเทศสเปน มีระวางขับน้ำเต็มที่ 11,544 ตัน (ระวาง : น. ที่บรรทุกของในเรือ , ส่วน , ตอน , ตำแหน่ง , ทำเนียบ) สามารถทนต่อคลื่นลมรุนแรงได้ในระดับ 9 (ทนคลื่นซึ่งมีความสูงได้ถึง 13.8 เมตร) ขึ้นระวางประจำการในกองทัพเรือเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2540 เรือหลวงจักรีนฤเบศรได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติภารกิจสำคัญทั้งในยามสงบและในยามสงครามดังต่อไปนี้

     ยามสงบ : ปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล , ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอื่นๆ , ปฏิบัติการอพยพประชาชน , ปฏิบัติการควบคุมและรักษาสภาพแวดล้อมในท้องทะเลรวมถึงบริเวณชายฝั่ง , คุ้มครองผลประโยชน์ทางทะเลของชาติ

     ยามสงคราม : ทำหน้าที่เป็นเรือธงควบคุมบังคับบัญชากองเรือในท้องทะเล , ควบคุมการปฏิบัติการป้องกันภัยทางอากาศให้กับกองเรือ , ควบคุมการปฏิบัติการป้องกันภัยผิวน้ำให้กับกองเรือ , ควบคุมการปฏิบัติการปราบเรือดำน้ำให้กับกองเรือ , สนับสนุนการปฏิบัติการทางทหารอื่นๆ



เรือหลวงจักรีนฤเบศร-จุกเสม็ด-สัตหีบ-56 เรือหลวงจักรีนฤเบศร-จุกเสม็ด-สัตหีบ-43 เรือหลวงจักรีนฤเบศร-จุกเสม็ด-สัตหีบ-59 เรือหลวงจักรีนฤเบศร-จุกเสม็ด-สัตหีบ-50

.........................สภาพภายใน.........................


เรือหลวงจักรีนฤเบศร-จุกเสม็ด-สัตหีบ-6 เรือหลวงจักรีนฤเบศร-จุกเสม็ด-สัตหีบ-13 เรือหลวงจักรีนฤเบศร-จุกเสม็ด-สัตหีบ-8

ภาพยาว ๆ ของ "เรือหลวงจักรีนฤเบศร" จากหัวจรดท้าย




     ภายหลังจากขึ้นระวางประจำการในปี พ.ศ. 2540 เรือหลวงจักรีนฤเบศรก็มีโอกาสได้ปฏิบัติภารกิจสำคัญๆ ตามที่ได้รับมอบหมายหลายต่อหลายครั้ง อาทิเช่น ภารกิจช่วยเหลือชาวประมงที่ประสบภัยจาก “พายุไต้ฝุ่นลินดา” เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2540 , ภารกิจค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงเก็บกู้ศพผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ธรณีพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิเมื่อเดือนธันวาคมปี พ.ศ. 2547 , ภารกิจลำเลียงผู้ประสบภัยจาก “เกาะเต่า” จ.สุราษฎร์ธานี มายัง “ท่าเทียบเรือจุกเสม็ด” จ.ชลบุรี เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2554 , ฯลฯ

     ณ ช่วงเวลาขณะที่ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมเดินทางมาเก็บข้อมูล “เรือหลวงจักรีนฤเบศร” ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2554 เรือหลวงลำนี้ก็ยังคงครองอันดับเรือบรรทุกอากาศยานลำแรกและลำเดียวของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ดังเช่นที่เคยเป็นมาตั้งแต่เมื่อ 15 ปีก่อน หากคุณมีโอกาสเดินทางมายังหาดนางรอง , หาดนางรำ , ช่องแสมสาร , เกาะขาม หรือสถานที่ท่องเที่ยวแห่งอื่นๆ ในเขต อ.สัตหีบ จ.ชลบุรีแล้วล่ะก็ การจัดแบ่งเวลาแวะมาเยี่ยมชมความยิ่งใหญ่ของเรือหลวงจักรีนฤเบศรด้วยก็น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งซึ่งทำให้การเดินทางท่องเที่ยวของคุณมีความคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น

           
     ข้อปฏิบัติในการเข้าเยี่ยมชมเรือหลวงจักรีนฤเบศร

     เนื่องจากเรือหลวงจักรีนฤเบศรเป็นเรือที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติภารกิจอันมีความเกี่ยวเนื่องกับความมั่นคงของราชอาณาจักรไทย นักท่องเที่ยวซึ่งต้องการเข้าเยี่ยมชมเรือจึงต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบต่างๆ ซึ่งถูกกำหนดไว้อย่างเคร่งครัดดังต่อไปนี้

  1. เรือหลวงจักรีนฤเบศรเปิดให้เยี่ยมชมระหว่างเวลา 9.00 – 17.00 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
  2. เรือหลวงจักรีนฤเบศรเป็นสถานที่ราชการ โปรดแต่งกายสุภาพและงดสูบบุหรี่
  3. ห้ามนำกระเป๋าสัมภาระ อาหาร เครื่องดื่ม สัตว์เลี้ยง และกล้องวีดีโอขึ้นบนเรือ
  4. ห้ามพกอาวุธ และวัตถุอันตรายขึ้นบนเรือโดยเด็ดขาด
  5. ไม่อนุญาตให้ชาวต่างประเทศเยี่ยมชมเรือ ยกเว้น กรณีได้รับอนุญาตเป็นพิเศษจากกองทัพเรือไทย
  6. การเยี่ยมชมเรือ ให้ใช้เฉพาะเส้นทางเยี่ยมชมที่กำหนดเท่านั้นและโปรดปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด
  7. โปรดแสดงบัตรประจำตัวประชาชน/บัตรประจำตัวข้าราชการกับเจ้าหน้าที่
     บุคคลซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายและไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าวข้างต้นได้ เจ้าหน้าที่จะไม่อนุญาตให้เยี่ยมชมเรือ



เรือหลวงสิมิลัน-จุกเสม็ด-สัตหีบ-10 เรือหลวงสิมิลัน-จุกเสม็ด-สัตหีบ-11 เรือหลวงสิมิลัน-จุกเสม็ด-สัตหีบ-12

ทิวทัศน์ท้องทะเลกว้างภายในบริเวณ "ท่าเทียบเรือจุกเสม็ด"




     
เรือหลวงสิมิลันเรือหลวงที่โด่งดังมาจากภารกิจปราบปรามโจรสลัด

     หากคุณไม่ใช่คนซึ่งมีดวงชะตาที่อาภัพอับเฉามากจนเกินไปนัก เมื่อคุณเดินทางมาเยี่ยมชมเรือหลวงจักรีนฤเบศร คุณก็จะมีโอกาสได้เยี่ยมชม “เรือหลวงสิมิลัน” ซึ่งจอดเทียบท่าอยู่ใกล้ๆ กันด้วย (โดยปกติในกรณีที่ไม่มีคำสั่งให้ออกปฏิบัติภารกิจใดๆ ทั้ง “เรือหลวงจักรีนฤเบศร” และ “เรือหลวงสิมิลัน” จะจอดอยู่ที่ “ท่าเทียบเรือจุกเสม็ด” ในบริเวณฐานทัพเรือสัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ครับ)

      “เรือหลวงสิมิลัน” เริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในหมู่ประชาชนคนทั่วไป จากเหตุการณ์ที่โจรสลัดโซมาเลียบุกยึดเรือสินค้าไทยซึ่งกำลังแล่นอยู่ในมหาสมุทรอินเดียเมื่อปลายปี พ.ศ. 2553 ในครั้งนั้นทางรัฐบาลไทยได้มอบหมายให้กองทัพเรือส่ง “เรือหลวงสิมิลัน” และ “เรือหลวงปัตตานี” เดินทางไปปฏิบัติภารกิจปราบปรามโจรสลัดร่วมกับกองกำลังผสมทางทะเลของสหภาพยุโรป



เรือหลวงสิมิลัน-จุกเสม็ด-สัตหีบ-2


"เรือหลวงสิมิลัน" เรือรบหลวงซึ่งเคยถูกใช้ในภารกิจปราบปรามโจรสลัด




     เรือหลวงสิมิลัน” เป็นเรือส่งกำลังบำรุงขนาดใหญ่ของกองทัพเรือไทย ได้รับการต่อจากอู่ต่อเรือหูตง นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ขึ้นระวางประจำการเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2539 มีระวางขับน้ำเต็มที่ 22,000 ตัน บนเรือมีดาดฟ้าและโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์สำหรับเฮลิคอปเตอร์รุ่น S – 70B หรือ MH – 60S จำนวน 1 เครื่อง เพื่อการส่งกำลังบำรุงเพิ่มเติมในแนวดิ่ง

     สำหรับนักท่องเที่ยวที่อุตส่าห์จัดสรรเวลามาเยี่ยมชม “เรือหลวงจักรีนฤเบศร” ได้แล้ว ก็อย่าลืมแวะขึ้น “เรือหลวงสิมิลัน” ซึ่งจอดอยู่ใกล้ๆ กันด้วยนะครับ (ระเบียบปฏิบัติในการเข้าเยี่ยมชม “เรือหลวงสิมิลัน” จะเหมือนๆ กับระเบียบปฏิบัติในการเข้าเยี่ยมชม “เรือหลวงจักรีนฤเบศร” แตกต่างกันเพียงแค่เจ้าหน้าที่จะไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าไปภายในตัวเรือหลวงสิมิลันครับ)
            


               
เรือหลวงสิมิลัน-จุกเสม็ด-สัตหีบ-34 เรือหลวงสิมิลัน-จุกเสม็ด-สัตหีบ-20 เรือหลวงสิมิลัน-จุกเสม็ด-สัตหีบ-4 เรือหลวงสิมิลัน-จุกเสม็ด-สัตหีบ-26

ไทยนี้รักสงบ แต่ถึงรบไม่ขลาด...............เอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่


เรือหลวงสิมิลัน-จุกเสม็ด-สัตหีบ-27 เรือหลวงสิมิลัน-จุกเสม็ด-สัตหีบ-38 เรือหลวงสิมิลัน-จุกเสม็ด-สัตหีบ-39 เรือหลวงสิมิลัน-จุกเสม็ด-สัตหีบ-18

บรรยากาศทั่ว ๆ ไปบน "เรือหลวงสิมิลัน"



     โทรศัพท์สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : (038) 439 – 479 , (038) 437 – 096 หรือ (080) 588 – 5077 (กองกิจการพลเรือน กองเรือยุทธการ)

     การเดินทางสู่ท่าเทียบเรือจุกเสม็ด :

     รถยนต์ส่วนบุคคล จากตัวอำเภอสัตหีบ จ.ชลบุรี ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 (ถนนสุขุมวิท) ขับรถมุ่งหน้าไปทาง อ.บ้านฉาง จ.ระยอง จนพบสี่แยกโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ จากสี่แยกดังกล่าวให้เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3126 ขับรถตรงไปเรื่อยๆ จนสุดถนนจะถึง “ท่าเทียบเรือจุกเสม็ด” โดยปกติในกรณีที่ไม่มีคำสั่งให้ออกปฏิบัติภารกิจใดๆ ทั้ง “เรือหลวงจักรีนฤเบศร” และ “เรือหลวงสิมิลัน” จะจอดเทียบอยู่ ณ ท่าเรือแห่งนี้ (จากตัวอำเภอสัตหีบจะมีป้ายบอกทางไปยังท่าเทียบเรือจุกเสม็ดอยู่เป็นระยะๆ ครับ)

     รถประจำทาง ขึ้นรถสายสัตหีบ – ช่องแสมสาร หรือนักท่องเที่ยวอาจเหมารถสองแถวจากตัวอำเภอสัตหีบมายังท่าเทียบเรือจุกเสม็ดก็ได้

     ฤดูกาลท่องเที่ยวที่เหมาะสม : สามารถท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี

     ขอขอบคุณ
: ข้อมูลอ้างอิงบางส่วนจากเว็บไซต์เรือหลวงจักรีนฤเบศร , วิกิพีเดีย , คม ชัด ลึก และหนังสือเที่ยวทั่วไทยไปกับนายรอบรู้ จ.ชลบุรี ของสำนักพิมพ์สารคดี

     หมายเหต : ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมเก็บข้อมูล “เรือหลวงจักรีนฤเบศร – เรือหลวงสิมิลัน” เมื่อเดือน พ.ค. 2554 ข้อมูลบางอย่างอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปได้ในปัจจุบัน



สถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ในเขตจังหวัดชลบุรี
(กรุณาคลิ๊ก “ ชื่อสถานที่ท่องเที่ยว” เพื่อชมภาพถ่ายและข้อมูลของสถานที่แต่ละแห่งโดยละเอียด)
อ.เมือง
 บางแสน , อ่างศิลา , เขาสามมุข
อ.สัตหีบ
 หาดเตยงาม , หาดนางรอง นางรำ , เกาะขาม , บางเสร่
อ.ศรีราชา
 เกาะลอย ศรีราชา
อ.เกาะสีชัง
 เกาะสีชัง
อ.บางละมุง
 หาดพัทยา , หาดจอมเทียน , เกาะล้าน , วัดญาณฯ-เขาชีจรรย์ , เขาพัทยา ,
 วิหารเซียน , เมืองจำลอง , ปราสาทสัจธรรม , ตลาดน้ำสี่ภาค , อัลคาซ่าร์ ,
 โคลอสเซียม โชว์ , มายากลทักซิโด้ , พิพิธภัณฑ์ริปสีส์ เชื่อหรือไม่! ,
 ทิฟฟานี่ โชว์

 


โปรโมชั่นทัวร์และบัตรเข้าชมสถานที่/การแสดงอื่นๆ ในเขต จ.ชลบุรี ราคาพิเศษ !!
(กรุณาคลิ๊ก “ชื่อโปรแกรมทัวร์/ชื่อสถานที่ท่องเที่ยว” เพื่อชมภาพถ่ายและข้อมูลต่าง ๆ โดยละเอียด)


ประเภทบัตร & โปรแกรมทัวร์
ราคา (บาท)
1.   ทัวร์เกาะล้าน
650 - 2,590
2.   พิพิธภัณฑ์ริบลีส์ เชื่อหรือไม่ ! : Ripley's Believe It or Not ! Museum
250 - 1,590
3.   สวนนงนุช
190 - 3,800
4.   พิพิธภัณฑ์ตุ๊กตาหมีเทดดี้ : Teddy Bear Museum/Teddy Island Thailand
200 - 500
5.   อัลคาซ่าร์ คาบาเร่ต์ พัทยา : Alcazar Cabaret Pattaya
280 - 1,000
6.   ทิฟฟานี่โชว์ พัทยา : Tiffany Show Pattaya
550 - 1,600
7.   โคลอสเซียม พัทยา : Colosseum Show Pattaya
300 - 1,000
8.   สวนน้ำรามายณะ: Ramayana Water Park
900 - 1,190
9.   มายากลทักซิโด้ : Tuxedo Magic & Illusion Hall
200 - 900
10.  สวนเสือศรีราชา
170 - 450
11.  ปราสาทสัจธรรม
400 - 1,300
12.  อันเดอร์วอเตอร์เวิลด์ พัทยา : Underwater World Pattaya
200 - 500
13.  โชว์โลมาพัทยา : Pattaya Dolphinarium
400 - 1,100
14.  โลมาโชว์ : Pattaya Dolphin World
300 - 2,500
15.  บ้านสุขาวดี
180 - 5,000
16.  Art In Paradise
200 - 400

 

 



แผนผังเว็บไซต์ (Site Map)


บทความและภาพทุกภาพภายในเว็บไซต์หน้านี้เป็นลิขสิทธิ์ของท่องเที่ยวดอทคอม
(www.Thongteaw.com)
หากผู้ใดทำการคัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไขหรือนำไปใช้ในกรณีใด ๆ
โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากทางทีมงาน
จะถูกดำเนินการทางกฎหมายขั้นเด็ดขาด


Copy right © Since 2008 by Thongteaw.com - All Rights Reserved
เลขทะเบียนพาณิชย์อิเล็คโทรนิคส์ 3102201494154